หนึ่งในสมาชิกทีมเจรจามุสลิมจากไทย เผยเรื่องราวเบื้องหลังที่นำไปสู่การพูดคุยโดยตรงกับกลุ่มฮามาส ที่เชื่อว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวประกัน 23 รายได้รับอิสรภาพ ชี้ จะใช้แนวทางเดิมในการขอปล่อยตัวประกันที่เหลือ
หนึ่งประเด็นที่ได้รับการจับตามองจากรอบโลก ในวันแรกที่มีการประกาศหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกองกำลังฮามาสเมื่อเดือนพฤศจิกายน คือจำนวนตัวประกันชุดแรกจำนวน 24 คนที่ได้รับการปล่อยตัว ที่มีคนไทยรวมอยู่ด้วยถึง 10 คน
หลังจากนั้น ชาวไทยยังคงทยอยได้รับอิสรภาพอย่างต่อเนื่องจนได้จำนวน 23 คน ก่อนที่การสู้รบจะปะทุอีกครั้งช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับชะตากรรมของตัวประกันที่เหลืออยู่ รวมถึงชาวไทยที่เชื่อว่ายังเหลืออีกจำนวน 9 ชีวิต
เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน หนึ่งในคณะทำงานเจรจากับผู้แทนฮามาสประจำกรุงเตหะรานประเทศอิหร่าน เพื่อช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล เชื่อว่า “ประเทศไทยประสบความสำเร็จที่สุดในโลก” ในแง่ของการช่วยเหลือตัวประกัน
“หลังจากนี้เราก็จะใช้ช่องทางเดิม คือขอความอนุเคราะห์จากเขา (ฮามาส) ในการปล่อยตัวคนไทยต่อไป” เลอพงษ์กล่าวกับวีโอเอไทย
เข้าหาถูกช่องทาง
ข้อมูลจากทางการ รายงานว่ามีประชาชนชาวไทยจำนวนราว 30,000 ทำงานอยู่ที่อิสราเอล ส่วนมากไปประกอบอาชีพในภาคส่วนการเกษตร ปฏิบัติการจู่โจมอิสราเอลโดยฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม ส่งผลให้คนไทยเสียชีวิต 39 ราย ถูกจับกุมเป็นตัวประกันอีกราว 32 คน และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่างภาคพื้นทวีป
แต่ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานการณ์ที่ดำเนินไป กลุ่มชาวไทยมุสลิมเห็นช่องทางช่วยเหลือการดำเนินการเจรจาตัวประกันจากเงื้อมมือฮามาส ผ่านความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์ส่วนตัว
คณะทำงานดังกล่าว ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างชาวมุสลิมที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และซายิดสุไลมาน ฮุสไซนี ผู้นำมุสลิมชีอะห์แห่งประเทศไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อเจรจาขอปล่อยตัวประกันกับผู้แทนกลุ่มฮามาสโดยตรง ผ่านการประสานงานโดยอิหร่านที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิด คู่ขนานกับการดำเนินงานอย่างเป็นทางการของภาครัฐ
“ก่อนหน้านั้น ผมอยู่อิหร่าน ก็มีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในอิหร่านเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือตัวประกันหรือเชลยศึกชาวไทยที่ถูกจับตัวไป ทางการอิหร่านที่สัมพันธ์กับฮามาสก็ติดต่อและช่วยพูดคุยก่อนหน้านี้
"หลังจากที่คณะเราไปพบกับทางการของฮามาส ปรากฏว่าทางฮามาสก็รับปากว่า ถ้ามีการพักยิงหรือหยุดยิงเมื่อไหร่ ฮามาสจะปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ” เลอพงษ์ ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติ อัล-มุสตาฟา ประเทศอิหร่าน กล่าว
เลอพงษ์เล่าด้วยว่า ตัวเขารู้จักกับตัวแทนกลุ่มฮามาสฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง เนื่องจากเคยร่วมงานรณรงค์ด้วยกันในประเด็นปาเลสไตน์ในอดีต
นับตั้งแต่เกิดสงครามในกาซ่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ดำเนินการพูดคุยในหลายแนวทาง เพื่อให้ฮามาสปล่อยตัวประกันอย่างไม่มีเงื่อนไข
แหล่งข่าวด้านการต่างประเทศที่ไม่ประสงค์ออกนาม ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้พบและหารือกับผู้แทนหลายประเทศเรื่องการไกล่เกลี่ยตัวประกันคนไทย ไม่เพียงเท่านั้นนั้น ทาง กต. ก็สนับสนุนและจะใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการด้วย
แหล่งข่าวรายเดิม ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าแนวทางการเจรจาของไทยส่งผลให้มีการปล่อยตัวประกันดังที่เห็น “แต่ที่แน่ๆ คือ แนวทางการเจรจาของฝ่ายไทยมี และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปล่อยตัว”
รมต.ปานปรีย์ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ถึงแผนการช่วยเหลือตัวประกันในกาซ่า โดยระบุถึงความท้าทายของการนำตัวประกันออกมา เนื่องจากอาจมีการกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ
“เขา (เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันออกกกลาง) บอกว่าความยากที่จะเอาตัวประกันออกมาในเวลานั้นเนื่องจากคนที่จับตัวประกันไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม อาจจะเกินสองกลุ่มด้วยซ้ำ แลัวตัวประกันอาจถูกจับแยกกัน ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด”
ชะตากรรมที่ยังไม่แน่นอน
คำถามตัวโตภายใต้การโจมตีของอิสราเอลในกาซ่าที่ดำเนินไปไม่หยุดหย่อน คือชะตากรรมของตัวประกันที่ยังหลงเหลืออยู่ภายใต้เงื้อมมือฮามาส ซึ่งทางการอิสราเอลเชื่อว่ามีจำนวนอยู่ราว 136 คน ตามการรายงานของเอพีเมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา
สำนักข่าว The Standard รายงานคำพูดจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อ 5 ธันวาคม ที่คาดว่าหากจะมีการปล่อยตัวประกันในครั้งต่อไป ก็ต้องมีการหยุดยิงเกิดขึ้นก่อน
เลอพงษ์ระบุว่า เขาและคณะทำงาน ได้ประสานงานไปยัง กต. รวมทั้ง “ผู้เกี่ยวข้องของฮามาสและอิหร่าน” เพื่อยืนยันจำนวนตัวประกันไทยที่หลงเหลืออยู่ รวมทั้งชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้น โดยระบุด้วยว่า เดิมทียอดตัวประกันที่ได้รับแจ้งจากฮามาสอยู่ที่ 23 ราย ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหมดแล้ว ดังนั้น จำนวนที่เพิ่มมาอีก 9 รายจึงเป็นตัวเลขที่จำเป็นต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
“ตราบใดที่คนไทยยังถูกจับกุมอยู่ หน้าที่ของเราก็ยังไม่หมด” เลอพงษ์กล่าว
ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในช่วงเกือบสามเดือนที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียให้กับพลเรือนเป็นวงกว้าง จนเริ่มเห็นแรงกดดันจากนานาประเทศ แม้แต่จากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ก็ตาม
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า เขากังวลกับปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลเทล อาวีฟ และได้แสดงออกอย่างชัดเจนไปยังอิสราเอลแล้วว่า “ความปลดภัยของผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์ยังเป็นข้อกังวลที่ใหญ่หลวง”
ถ้อยแถลงของไบเดนมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีมติสนับสนุนการหยุดยิงในกาซ่า ที่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก 153 ประเทศจาก 193 ชาติสมาชิก ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณว่าการสนับสนุนอิสราเอลของรัฐบาลวอชิงตันกำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น
เลอพงษ์มีข้อเสนอว่า ภาครัฐของไทยควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการส่งแรงงานไปยังจุดที่เป็นพื้นที่พิพาท และเรียกร้องให้นานาชาติส่งแรงกดดันให้จบสงครามโดยเร็ว
“นานาประเทศควรกดดันมหาอำนาจที่สนับสนุนอิสราเอล ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ เพื่อให้สงครามจบลงอย่างรวดเร็ว และมอบการตัดสินประเด็นปาเลสไตน์ให้ชาวปาเลสไตน์เท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน โดยไม่มีต่างชาติใด ๆ เข้ามาแทรกแซงทั้งสิ้น” สมาชิกคณะเจรจาภาคประชาชนกล่าว
กระดานความเห็น