สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มศิษย์เก่านักเรียนไทย-อิหร่าน เผย ได้พูดคุยกับกลุ่มฮามาสโดยตรง และมีผลให้ตัวประกันชาวไทยในกาซ่าได้รับการปล่อยตัวในระลอกแรกหลังการทำข้อตกลงพักรบชั่วคราวระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล
เลอพงษ์ ซาร์ยีด ประธานสมาคมศิษย์เก่านักเรียนไทย-อิหร่าน เปิดเผยกับรอยเตอร์ในวันจันทร์ว่า “เราคือฝ่ายเดียวที่ได้คุยกับฮามาสตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวคนไทย”
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันชาวไทยเพิ่มอีกสามคน ส่งผลให้มีคนไทยได้รับการปล่อยตัวแล้วรวม 17 คน นับตั้งแต่อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสตกลงสงบศึกเป็นการชั่วคราวนับตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว
เลอพงษ์เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มชาวมุสลิม ที่ได้รับมอบหมายจากวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในการเดินทางไปยังกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อเข้าพบกับตัวแทนกลุ่มฮามาสโดยตรง และแม้การพูดคุยจะไม่ใช่การเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้มีท่าทีประณามการหารือดังกล่าว
ประธานกลุ่มศิษย์เก่านักเรียนไทย-อิหร่าน กล่าวว่า “ถ้าไทยพึ่งพาแค่กระทรวงต่างประเทศ หรือขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น โอกาสที่ (ตัวประกัน) จะได้รับการปล่อยตัวเป็นกลุ่มแรกก็คงจะต่ำมาก” และระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศอย่างสหรัฐฯ เยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งมีประชาชนของตนตกเป็นตัวประกัน เป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากกว่า
รอยเตอร์ไม่ได้รับคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศไทยในประเด็นที่เลอพงษ์ได้กล่าวไป แต่ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการที่ทำให้คนไทยได้รับการปล่อยตัว ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ใจความว่า
“ดีใจแทนครอบครัวพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวอีก 3 คนเมื่อคืนนี้ด้วยครับ ฝ่ายไทยกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านโดยเร็วครับ และขอขอบคุณสำหรับทุกความพยายามที่นำมาสู่การปล่อยตัวประกันคนไทยครับ ทั้งนี้รัฐบาลไทยยังคงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันคนไทยที่เหลือต่อไปครับ”
เลอพงษ์กล่าวว่า กลุ่มศิษย์เก่าไทย-อิหร่าน ได้คุยกับตัวแทนจากฮามาสเป็นเวลาสามชั่วโมงเมื่อเดือนที่แล้ว โดยพวกเขากล่าวว่าชาวไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และควรได้รับการปล่อยตัว และหลังจากนั้นฮามาสก็ได้ให้การรับรองว่า คนไทยจะได้รับการปล่อยตัวเป็นกลุ่มแรกโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากมีการหยุดยิง
อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยเดียวกัน กล่าวว่า “ทีมเราจับจุดได้ถูกต้องตั้งแต่ตอนแรก ด้วยการไปยังอิหร่านและคุยกับฮามาสโดยตรง”
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ระบุว่า การตกลงเรื่องตัวประกันมีขึ้นโดยมีอียิปต์และกาตาร์เป็นตัวกลาง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจาก รมว. กระทรวงการต่างประเทศของไทยไปเยือนกาตาร์เมื่อ 31 ตุลาคม ด้านอิหร่านก็ชี้แจงว่าตนมีส่วนช่วยในการเจรจาการปล่อยตัวเช่นกัน ส่วนกลุ่มฮามาสออกมาชี้แจงว่า การปล่อยตัวประกันเป็นผลจากความพยายามของประธานาธิบดีตุรกี เรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน
ต่อประเด็นที่อิหร่านชี้แจง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยได้ส่งรายชื่อให้กับทุกฝ่ายตั้งแต่สงครามเริ่มต้น รวมถึงกาตาร์ อียิปต์ อิสราเอลและอิหร่าน และระบุด้วยว่า “ตัวแสดงที่แตกต่างกัน ก็คงมีอิทธิพลต่อฮามาสที่ต่างกันไป”
การสงบศึกชั่วคราวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในสงครามที่กินเวลามาแล้วราว 7 สัปดาห์ นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสบุกเข้าไปในอิสราเอล สังหารผู้คนไป 1,200 คน และจับคนอีกราว 240 คนเป็นตัวประกันกลับไปในฉนวนกาซ่า
ก่อนสงครามจะเริ่มต้น มีชาวไทยราว 30,000 คนทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล ทำให้ชาวไทยเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีสัดส่วนมากที่สุดในพื้นที่
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น