สืบเนื่องจากเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วีโอเอไทยสอบถามความคิดเห็นชาวไทยและชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ยังคงมองต่อไปข้างหน้าในปีที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำสูงสุด
แม้ไม่ใช่รายแรกในประวัติศาสตร์ แต่ปลายกระบอกปืนที่หันเข้าหาโดนัลด์ ทรัมป์ ในการหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นำมาซึ่งแรงปฏิกิริยาจากแทบทุกเฉดการเมืองทั้งในและนอกสหรัฐฯ
กระแสและคำถามที่ตามมาก็คือ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความคิดและจิตใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวอเมริกัน
ในวันอาทิตย์ นักท่องเที่ยวผู้เข้าเยี่ยมชมทำเนียบขาว ซึ่งเป็นที่ทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผชิญกับการปิดกั้นพื้นที่โดยรอบและการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ขยายพื้นที่ออกมาจนสามารถชมหนึ่งในจุดหมายตาสำคัญของกรุงวอชิงตันได้เพียงห่าง ๆ
ที่ทางเข้าของจัตุรัสลาฟาแยต ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทำเนียบขาว ถูกปิดด้วยรั้วและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราพื้นที่ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาถ่ายภาพทำเนียบขาวอยู่ไกล ๆ
ไคลี สมิธ ชาวอเมริกันจากรัฐโอคลาโฮมา หนึ่งในผู้มาท่องเที่ยวในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอไทยว่า หวังว่าจะไม่เกิดเหตุพยายามลอบสังหารเช่นนี้อีก และหวังว่าทุกคนจะรับฟังกันมากขึ้นแทนที่จะใช้ความรุนแรง
“เราต้องรับรู้ว่าคนเหล่านี้ ไม่ว่าเขาจะมีเจตจำนงทางการเมืองเหมือนกับคุณหรือไม่ แต่ทุกคนต่างพยายามไปถึงบทสรุปของการมีสังคมที่สงบสุข และถ้าเราไม่ทำในส่วนของเราและลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของคนที่แสวงหาสันติสุขในสังคม พวกเราก็จะล้มเหลวกันหมด”
“ฉันคิดว่าความปลอดภัยในงานลักษณะแบบนี้ควรต้องยกระดับขึ้น ในแง่ของพลเรือน ก็คือทำให้ผู้คนของเรามีความปลอดภัย และทำให้คนที่พยายามจะมานำพวกเราปลอดภัย” สมิธกล่าว
ในวันเดียวกัน ที่วัดญาณรังษี ซึ่งเป็นวัดไทยในรัฐเวอร์จิเนีย มีชาวไทยมารวมกลุ่มกันเพื่อร่วมทำบุญวันเกิดครบรอบ 68 ปี ของพระครูสิริธรรมวิเทศผู้เป็นเจ้าอาวาส
ฆราวาสชาวไทยหลายคนทราบข่าวการลอบยิงอดีตประธานาธิบดี และมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในกิจกรรมการเมืองในปีนี้
ฉวีวรรณ ทองเปี้ย ชาวไทยที่ประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงวอชิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย และรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่าสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบการเมืองแข็งแรงมั่นคงแห่งนี้ และทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
“ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราขอโหวตอยู่ห่าง ๆ แต่คงไม่อยากออกตัวหรือไปใกล้ตรงนั้น เพราะเราก็ต้องดูแลครอบครัว ดูแลลูก”
“สหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจ แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลง และการเมืองก็เดือดจริงๆ คิดว่าทุกคนต้องออกมาช่วยกัน สนับสนุนคนที่เก่งและดี เสียงของเรามันสำคัญมาก แต่จะออกมาแนวไหนก็คงต้องระวังตัว” ฉวีวรรณกล่าว
ยรรยง กุลวัฒโน ชาวไทยในรัฐเวอร์จิเนีย อายุ 74 ปี กล่าวว่าตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่คิดว่าจะมีผลต่อประชาธิปไตยสหรัฐฯ และยังต้องรอดูผลกระทบที่จะมีกับการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป
“ตกใจ ปกติอเมริกาไม่ควรมีแบบนี้ สาเหตุที่แท้จริงก็กำลังรอข่าวละเอียด มันน่ากลัวนะครับ ต้องระมัดระวังกันซึ่งทั้งฝั่งรีพับลิกันและฝั่งเดโมแครตก็ต้องระมัดระวังตัวกัน”
“คงไม่ถึงระดับนั้น เพราะในอเมริกา คนที่มีลักษณะแบบนี้มันมีพอสมควร ทั้งทางซ้าย ขวา คงไม่สะเทือนมากครับกับประชาธิปไตยของอเมริกา” ยรรยงกล่าว
ฉวีวรรณ นพเกตุ ชาวไทยในสหรัฐฯ กล่าวว่า การลอบยิงครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงเจตนาของคนกลุ่มเล็ก ๆ และการเมืองก็คงจะเดินหน้าต่อไป
“ถ้าพูดเรื่องบรรยากาศทั่วไป การเมืองก็คงจะรันต่อไป แต่เบื้องลึกอะไรเราก็คงไม่ทราบแต่ถามว่าจะเปลี่ยนรูปหรือไม่ มันคงยากนะคะแค่เหตุการณ์เล็ก ๆทีึ่ตัวเป็นกระตุ้น อาจจะให้คุณทรัมป์ได้คะแนนมากขึ้นก็ได้นะคะ เพราะโดนประทุษร้าย มันทำให้ได้เห็นความเห็นใจจากทุกคน” ฉวีวรรณกล่าว
นับจนถึงจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ระบุว่า โธมัส แมทธิว ครูกส์ ชายวัย 20 ปีจากเมืองเบทเธลพาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย คือผู้ลอบยิงทรัมป์ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่วนแรงจูงใจในการก่อเหตุนั้นยังไม่มีการรายงานใด ๆ เป็นที่ปรากฏ
ในส่วนของทรัมป์ ที่ไม่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง เดินทางไปปรากฏตัวในที่ประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันในรัฐวิสคอนซินในวันจันทร์ และได้รับการรับรองจากเหล่าผู้แทนในพรรค ให้เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในสังกัดรีพับลิกันอย่างเป็นทางการ พร้อมเลือก เจ.ดี.แวนซ์ วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี หรือ running mate ตามการรายงานของเอพี
เมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประณามความรุนแรงทางการเมืองพร้อมเรียกร้องเอกภาพในประเทศ
"ไม่มีที่สำหรับความรุนแรงลักษณะนี้ในอเมริกา หรือความรุนแรงใด ๆ ก็ตาม" ไบเดนกล่าว พร้อมระบุว่า "การลอบสังหารคือสิ่งที่ขัดแย้งกับทุกอย่างที่เรายืนหยัดต่อสู้มา ในฐานะประเทศ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น นั่นไม่ใช่ชาวอเมริกัน และเราต้องไม่ยอมให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น"
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า "เอกภาพคือเป้าหมายสูงสุด ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านั้น แม้เราจะมีการถกเถียงและเห็นต่างซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราจะไม่เปลี่ยนไปจากความจริงว่าเราเป็นใครในฐานะประชาชนอเมริกัน"
กระดานความเห็น