ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยใช้วิธี 'ผสมเทียมหลอดแก้ว' เพิ่มจำนวนลูกแรดขาว


Najin, right, and her daughter Fatou, the last two northern white rhino females, graze near their enclosure at the Olpejeta Conservancy in Laikipia National Park, Kenya, March 31, 2018.
Najin, right, and her daughter Fatou, the last two northern white rhino females, graze near their enclosure at the Olpejeta Conservancy in Laikipia National Park, Kenya, March 31, 2018.

ในขณะนี้มีเเรดขาวพันธุ์เหนือเพศเมียเหลืออยู่เพียงสองตัวเท่านั้นบนโลก แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาจจะช่วยให้แรดขาวพันธุ์นี้เพิ่มจำนวนขึ้นได้

ในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ในวารสาร Nature Communications ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันไลบ์นีซ ด้านสวนสัตว์และการวิจัยด้านสัตว์ป่าในเยอรมนี (Leibniz Institute for Zoo and Wildlife Research) ได้ใช้เชื้อสเปิร์มเเช่เเข็งที่ได้จากเเรดขาวเหนือที่ตายไปแล้วสามตัว ในการผสมกับไข่ของแรดขาวพันธุ์ใต้ในห้องทดลอง

ทีมนักวิจัยได้เลี้ยงให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วเเบ่งเซลล์จนถึงช่วงที่พร้อมที่นำไปฝังในมดลูกของแรดที่เหมาะแก่การอุ้มบุญ และในขณะที่กำลังเสาะหาตัวเเรดที่เเข็งเเรงและเหมาะแก่การอุ้มบุญ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำตัวอ่อนนี้ไปแช่เเข็งเอาไว้

เเรดขาวทั้งสองสายพันธุ์อาจจะดูคล้ายกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันทางกายในหลายจุด อาทิ แรดขาวเหนือมีขนที่ใบหูดกกว่า เเละใบหูมีขนาดใหญ่กว่า และเเรดขาวใต้มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าเเละมีร่องลึกอยู่ระหว่างกระดูกซี่โครง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องการที่จะฝากตัวอ่อนแรดขาวเหนือกับแรดขาวใต้เพื่อผลิตลูกแรดขาวเหนือรุ่นใหม่ออกมา ก่อนที่แรดขาวเหนือสองตัวสุดท้ายจะตายไป

โทมัส ฮิลเดอร์เเบรนด์ท เจ้าหน้าที่อาวุโสที่สถาบัน Leibniz กล่าวว่า ต้องรีบเร่งเเข่งกับเวลา เพราะมีแรดขาวเหนือเหลืออยู่เเค่สองตัวสุดท้ายเเล้ว เเละงานนี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์พันธุกรรมของเเรดขาวเหนือเเล้ว ยังมีความสำคัญด้านการสืบทอดทางสังคมอีกด้วย

โดยทีมงานหวังว่าภายใน 3 ปี อาจจะสามารถเพาะพันธุ์ลูกแรดขาวเหนือตัวเเรกได้สำเร็จ เเละให้ใช้ชีวิตอยู่กับเเรดขาวเหนือตัวเมียสองตัวนี้ในเคนยา เพื่อให้ลูกแรดได้เรียนรู้พฤติกรรมจากแรดสายพันธุ์เดียวกัน

โชคดีที่แรดขาวเหนือกับใต้มีความใกล้เคียงกันทางพันธุกรรมที่เอื้อให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ไข่จากแรดขาวใต้มาเพาะพันธุ์ลูกแรดพันธุ์ผสม เพราะแรดขาวเหนือเพศเมียสองตัวสุดท้ายไม่สามารถมีลูกได้ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเพาะพันธุ์ตัวอ่อนแรดขาวเหนือที่มีสายเลือดบริสุทธิ์ได้

ในอนาคต ทีมนักวิจัยที่สถาบันไลบ์นิซหวังว่า จะพัฒนาไข่แรดขาวเหนือเทียมได้จากเซลล์ในระบบสืบพันธุ์เพื่อรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรม

โทมัส ฮิลเดอร์เเบรนด์ท เจ้าหน้าที่อาวุโสที่สถาบันไลบ์นิซ กล่าวว่า ผลการทดลองที่ตีพิมพ์ไปเเสดงให้เห็นว่า เราสามารถช่วยรักษาแรดขาวเหนือเอาไว้ได้ ซึ่งทางเทคนิคเเล้วถือว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะมีเพียงเพศเมียสองตัวหลงเหลืออยู่บนโลก

เเต่เทคโนโลยีผสมพันธุ์เทียมนี้จะช่วยสร้างเเรดขาวเหนือพันธุ์ผสมรุ่นใหม่ได้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า

ฮิลเดอร์เเบรนด์ทยังบอกปัดคำวิจารณ์ของคนที่ไม่เห็นด้วยที่บอกว่า การผสมพันธุ์เทียมในห้องทดลองเป็นการแทรกแซงต่อธรรมชาติ เขากล่าวว่า เเรดขาวเหนือไม่ได้ล้มเหลวในการวิวัฒนาการ เเต่สูญพันธุ์เพราะไม่มีเกราะกันกระสุน เพราะถูกคนฆ่า ซึ่งสร้างความไม่สมดุลแก่ระบบนิเวศน์ เเละนักวิทยาศาสตร์มีเทคโนโลยีอยู่ในมือที่ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ได้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG