ทีมนักวิจัยในฮังการีได้ศึกษาจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังความอ้วนของสุนัข โดยในการทดลอง ทีมนักวิจัยได้วางชามใส่อาหารสุนัขสองชามไว้ตรงหน้าสุนัขอ้วนหลายตัว ชามหนึ่งมีอาหารที่หน้าตาน่ากิน ส่วนชามอีกใบหนึ่งว่างเปล่าหรืออาจมีอาหารที่สุนัขอ้วนเหล่านี้ไม่ชอบกิน
ทีมนักวิจัยพบว่า หมาตัวที่มีน้ำหนักตัวปกติยังคงทำตามคำสั่งให้มองหาอาหารในชามที่สอง ในขณะที่หมาอ้วนไม่ยอมทำตามคำสั่งอีก หลังจากได้พยายามมองหาอาหารในชามที่สองเพียงสองสามครั้งแต่ไม่เจอ
ทีมนักจัยกล่าวว่า ผลการทดลองนี้สร้างความแปลกใจเพราะนักวิจัยคาดว่าหมาอ้วนจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้กินอาหาร
ออร์โซย่า ทอร์ดา (Orsolya Torda) หัวหน้าทีมนักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์กล่าวว่า ทีมงานคาดหวังว่าหมาอ้วนจะมองสถานการณ์ทางบวกเเละจะพยายามอย่างไม่ลดละในการมองหาอาหารในชามที่สอง แต่ในการทดลอง ทีมนักวิจัยได้ผลลัพท์ตรงกันข้าม
โดยหมาอ้วนมองสถานการณ์ในด้านลบ เเละจะไม่ยอมค้นหาอาหารอีกต่อไปหากหาไม่เจอ โดยจะกินเฉพาะอาหารที่น่ากินซึ่งวางอยู่ตรงหน้าเท่านั้น
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผลการทลองนี้ชี้ว่าสุนัขอ้วนจะพยายามกินอาหารที่น่ากินให้มากที่สุด และลังเลที่จะทำตามคำสั่งหากคิดว่าอาจไม่ได้รับอาหารเป็นรางวัล
ทอร์ดา หัวหน้าทีมนักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์ กล่าวว่า หมาอ้วนจะทำตามคำสั่งหากรู้ว่าจะได้กินอาหารเป็นรางวัลตอบแทนอย่างเเน่นอน แต่หากเสาะหาอาหารเเล้วไม่เจอ หมาอ้วนจะเลิกความพยายามเเละไม่ยอมเสียพลังงานในการค้นหาอีกต่อไป
ทีมนักวิจัยชี้ว่าผลการศึกษาพฤติกรรมของหมาอ้วนนี้อาจใช้เปรียบเทียบกับมนุษย์ได้ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่การศึกษาสาเหตุเเละผลกระทบจากโรคอ้วนของคน
ปีเตอร์ พองราซ (Peter Pngracz) รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมสัตว์เเห่งมหาวิทยาลัย อีออทวอส โลราน (Eotvos Lorand University) หรือ ELTE ในฮังการี กล่าวว่า สุนัขมีกระบวนการทางปัญญาสังคมที่คล้ายกับมนุษย์ เเละเป็นสัตว์ที่อยู่ในสภาพเเวดล้อมเดียวกันกับคน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สำหรับสุนัข อาหารที่อร่อยถูกปากจึงเป็นรางวัลที่คุ้มค่ากับการรอคอย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)