ทุกวัน มีเรือประมงเพื่อการค้าขนาดใหญ่หลายพันลำเดินทางข้ามมหาสมุทรทั่วโลกเพื่อจับปลา
การเดินทางในมหาสมุทรเเห่งต่างๆ ทั่วโลกของเรือประมงมากกว่า 6,000 ลำ ถูกเฝ้าติดตามผ่านระบบแผนที่ทางอินเตอร์เน็ทที่เรียกว่า "Global Fishing Watch" ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้ได้ฟรี ระบบนี้จัดตั้งโดยหน่วยงานนานาชาติปกป้องสัตว์ โอเชียนน่า (Oceana) ที่ได้รับความร่วมมือจาก บริษัทสกายทรูธ (Sky Truth) กับบริษัทกูเกิล (Google) เเละใช้ข้อมูลที่ได้จากบริษัทดาวเทียมเอกชนหลายเเห่ง
เลซี่ มาลาร์คี (Lacey Malarky) นักวิเคราะห์เเห่งโอเชียนน่า กล่าวว่า ระบบนี้ใช้ในการเฝ้าติดตามดูพื้นที่ทะเลที่ได้รับการปกป้อง เพื่อติดตามดูว่าเรือประมงเข้าไปล่าปลาในบริเวณหวงห้ามหรือไม่ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรสามารถใช้ระบบแผนที่ทางดาวเทียมทางอินเตอร์เน็ทนี้ ไปใช้ในการเฝ้าติดตามน่านน้ำของประเทศตน ซึ่งเป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำ
เรือประมงมักจับได้ปลาเเละสัตว์น้ำที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายติดร่างเเหหรืออวนมาด้วยอย่างไม่จงใจ ที่เรียกกันว่า bycatch ซึ่งรวมทั้งปลาฉลาม
มีปลาฉลามมากถึง 273 ล้านตัวติดร่างแหต่อปี ส่วนมากเป็นปลาฉลามที่เรียกว่า blue sharks เเละเนื่องจากปลาฉลามพันธุ์นี้ไม่มีมูลค่าทางการค้า จึงมักถูกทิ้งลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์ เเละมักไม่มีการบันทึกจำนวนเอาไว้
ปลาที่ถูกจับได้โดยเรือประมงอย่างไม่จงใจนี้ เป็นปัญหาที่น่ากังวลเพราะทำให้ประชากรปลาฉลามลดลง
ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 ทีมนักวิจัยปลาฉลามจากมหาวิทยาลัยเเห่งไมอามี่ (University of Miami) เเละทีมงานจากหน่วยงาน บีนีท เดอะ เวฟส์ (Beneath the Waves) ทำการติดอุปกรณ์เฝ้าติดตามปลาฉลาม blue sharks จำนวน 10 ตัว ที่นอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
เเละหน่วยงานโอเชี่ยนน่ากับบริษัทผู้ร่วมมือในโครงการ ได้รวมเอาข้อมูลที่จัดเก็บได้โดยระบบ Global Flishing Watch ไปจัดทำเป็นแผนที่ออกมาเป็นครั้งเเรก ที่เเสดงถึงการตอบสนองระหว่างเรือประมงกับปลาฉลาม
เลซี่ มาลาร์คี นักวิเคราะห์เเห่งโอเชียนน่า กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมเเละอินเตอร์เน็ทที่ทันสมัย ทีมงานสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อประมาณจำนวนของปลาฉลามสายพันธุ์เป้าหมาย ว่าอาจถูกจับโดยเรือประมงอย่างไม่จงใจจำนวนเท่าไร เพื่อช่วยสร้างความตื่นตัวเเละความเข้าใจถึงความเสี่ยงของปลาฉลามพันธุ์นี้
โอเชียนน่าหวังว่า การรวมเอาข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันหลังจากได้รับสัญญาณมาจากสัตว์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมที่ติดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นปลาฉลาม เต่า ปลาโลมา หรือสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ จะช่วยให้ทางการในประเทศต่างๆ ออกมาตรการอนุรักษ์มารับรอง อาทิ การควบคุมการประมงหรือการปิดพื้นที่บางจุดไม่ให้การทำประมง
ผู้สนใจสามารถค้นหาแผนที่เเสดงการประมงแบบอินเตอร์แอ็คทีฟนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.globalfishingwatch.org
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)