ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทวีปอาฟริกาเป็นแหล่งต้นกำเนิดของวัณโรค


การศึกษาชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่ามนุษย์กับเชื้อวัณโรคกำเนิดและวิวัฒนาการมาพร้อมๆกันในทวีปอาฟริกา

ทีมนักวิจัยที่สถาบันสุขภาพและโรคเขตร้อนแห่งสวิสเซอร์เเลนด์ (Swiss Tropical and Public Health Institute) นำโดยศาสตราจารย์เซบ้าสเตียน แก็กโน ค้นพบว่าเชื้อวัณโรคกำเนิดขึ้นในทวีปอาฟริกาอย่างน้อยเมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์แก็กโนอธิบายว่าทำไมทีมวิจัยต้องการศึกษาประวัติของเชื้อวัณโรค

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการวิจัยนี้ต้องการค้นหาคำตอบแก่คำถามเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของวัณโรคเพราะป็นคำถามที่ได้รับการถกเถียงมานานเเล้ว นอกจากนี้ทีมนักวิจัยเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องศึกษาว่าโรคติดต่อชนิดนี้มีวิวัฒนาการมาอย่างไรจากอดีตจนถึงปัจจุบันเพราะจะช่วยสร้างความเข้าใจต่อวิวัฒนาการของโรคนี้ต่อไปในอนาคต

ในการค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อวัณโรค ทีมนักวิจัยต้องพึ่งพาข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมซึ่งหาได้ไม่ยากนัก

ศาสตราจารย์แก็กโน หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า เทคนิคก็คือการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับจีโนมที่ได้มาจากเชื้อเเบคทีเรียที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้ในการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นๆทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์เราด้วย

ศาสตราจารย์แก็กโนชี้ว่าวิวัฒนาการของมนุษย์กับวิวัฒนาการของเชื้อวัณโรคตั้งแต่ในอดีต ไม่แค่เกิดขึ้นพร้อมๆกันแต่น่าจะพูดได้ว่าเกิดขึ้นพร้อมๆกันภายในร่างกายของมนุษย์เพราะเชื้อเเบคทีเรียอาศัยทั้งบนร่างกายคนและภายในร่างกายคน แบคทีเรียช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ ทีมนักวิจัยกำลังพยายามศึกษาว่าเชื้อวัณโรคมีอันตรายต่อมนุษย์มาตั้งแต่ในอดีตหรือไม่

ศาสตราจารย์แก็กโนกล่าวว่าทีมวิจัยต้องการไขข้อสงสัยประเด็นนี้ให้ได้เนื่องจากเชื้อวัณโรคมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งในตัวซึ่งเรียกว่าการไม่ปรากฏอาการป่วยแม้จะติดเชื้อ

เขากล่าวว่าระยะเวลาที่เชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกายคนโดยไม่ทำให้เกิดอาการป่วยนี้อาจจะยาวนานหลายสิบปีและคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อวัณโรคในร่างกายอยู่ในขณะนี้อาจจะไม่ป่วยด้วยโรคนี้ในอนาคต

ทีมวิจัยกำลังศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าทำไมผู้ติดเชื้อวัณโรคเพียงแค่ห้าถึงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดราวสองพันล้านคนทั่วโลกจึงปรากฏอาการของโรคนี้

ศาสตราจารย์แก็กโนกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าน่าสนใจว่าทำไมกลุ่มคนห้าถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อวัณโรคจึงเเสดง อาการป่วย ผู้เชี่ยวชาญรู้ดีว่ามีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเกี่ยวข้องด้วย อาทิ ผู้ติดเชื้อป่วยด้วยโรคเอดส์หรืออาจมีภาวะขาดอาหารร่วมด้วย นอกจากนี้โรคเบาหวานก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคในร่างกายเเสดงอาการป่วย ทำให้นักวิจัยเกิดความสงสัยว่าการติดเชื้อวัณโรคแบบไม่ก่อให้เกิดโรคอาจจะมีคุณต่อร่างกายคนเราเพราะอาจจะช่วยปกป้องร่างกายจากโรคติดต่อชนิดอื่นๆได้ ศาสตราจารย์แก็กโนชี้ว่าแม้ข้อสงสัยนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ นักวิจัยไม่สามารถเพิกเฉยต่อข้อสงสัยนี้

เขากล่าวว่าเชื้อวัณโรคหายไปจากทวีปอาฟริกาเมื่อมนุษย์เริ่มย้ายไปจากทวีปนี้ เมื่อราว 65,000 ถึง 70,000 ปีที่แล้ว แต่เมื่อราวหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะประชากรในมนุษย์ยุคหินใหม่ เป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มทำการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ และนี่เป็นช่วงที่โรคติดต่อแพร่จากสัตว์เลี้ยงสู่คนเป็นครั้งแรก ศาสตราจารย์แก็กโน กล่าวว่านั่นทำให้เกิดความเชื่อกันอยู่นานหลายปีว่าเชื้อวัํณโรคเเพร่จากสัตว์สู่คน อย่างไรก็ตามผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าเชื้อวัณโรคเกิดขึ้นมานานก่อนหน้าที่มนุษย์จะเริ่มเลี้ยงสัตว์เสียอีก และเชื้อวัณโรคได้ปรับตัวเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในร่างกายคนได้เนื่องจากไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเองในสิ่งเเวดล้อมทั่วไป

พัฒนาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในช่วงมนุษย์ยุคหินนี้ก็คือมนุษย์เริ่มตั้งรกรากและอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างหนาเเน่น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะเเก่การเเพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคในอากาศจากคนสู่คน

ศาสตราจารย์แก็กโนกล่าวว่าสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคนี้และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เชื้อวัณโรคอาจกลายเป็นโรคติดต่อรุนแรงถึงชีวิตและแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เป็นที่รู้กันดีว่าเชื้อวัณโรคมีความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคแบบก่อให้เกิดโรคถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์จะเสียชีวิตหากไม่ได้รับการบำบัด

ศาสตราจารย์แก็กโนเชื่อว่าเชื้อวัณโรคไม่เป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิตในช่วงมนุษย์ยุคหิน ซึ่งยุคนี้มนุษย์ล่าสัตว์และเก็บของป่า

หลังจากมนุษย์เริ่มเดินทางออกไปจากทวีปอาฟริกา ลักษณะรูปพรรณสัณฐานของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเพราะต้องปรับตัวเข้ากับลักษณะสภาพภูมิประเทศของที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เชื้อวัณโรคได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยและแยกออกเป็นไปหลายสายพันธุ์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ที่พบในทวีปอาฟริกาจะต่างจากเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ที่พบในประเทศจีน อย่างไรก็ดี ทวีปอาฟริกายังเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคมากที่สุด

ทีมนักวิจัยหวังว่าการศึกษาเข้าใจถึงประวัติที่มาของเชื้อวัณโรคจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีบำบัดวัณโรควิธีใหม่ๆและวัคซีนชนิดใหม่ๆออกมาป้องกันโรคนี้ ในปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคแบบดื้อยาเพิ่มมากขึ้น นักวิจัยหวังว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้จะช่วยคาดเดาถึงลักษณะการแพร่ระบาดของวัณโรคในอนาคตได้

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG