รัฐบาลเมียนมาเปิดเผยว่า การเจรจาเพื่อกลับมาก่อสร้างโครงการทางรถไฟข้ามเมียนมากำลังเริ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ล่าช้าไปในช่วงการระบาดของโควิด-19
โครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อมณฑลยูนนานของจีนกับอ่าวเบงกอล ด้วยเครือข่ายทางรถไฟแพน-เอเชีย (Pan-Asian Railway Network) ที่พาดผ่านเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ถือส่วนหนึ่งของ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนที่เชื่อมหลายประเทศในเอเชียและยุโรปไว้ด้วยกัน
โครงการทางรถไฟในเมียนมานี้ครอบคลุมเส้นทางราว 1,000 กม. และแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเชื่อมระหว่างเมืองหมู่เจ้กับเมืองมัณฑะเลย์ และส่วนที่สองเชื่อมเมืองมัณฑะเลย์กับเมืองเจ้าผิวก์ซึ่งเป็นเมืองท่าติดกับอ่าวเบงกอล ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จจะทำให้จีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าเส้นใหม่โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
พลตรีจอว์ มิน ตัน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาพม่าว่า "โครงการทางรถไฟไปถึงเมืองเจ้าผิวก์ถูกรวมไว้ในข้อตกลงนี้ด้วย ซึ่งการสำรวจพื้นที่และจัดทำรายงานเรื่องนี้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อกลับมาเดินหน้าก่อสร้างต่อไป"
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ผู้นำจีนต้องการเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกต่างชาติขัดขวางกระบวนการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางด้วยการปิดช่องแคบมะละกา
ในการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมั่นคงด้านพลังงานว่าเป็นหนึ่งในความกังวลหลักของจีน โดย 70% ของน้ำมันดิบที่จีนใช้ในประเทศนำเข้าจากตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่มาจากซาอุดิอาระเบีย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงคมนาคมเมียนมาผู้ไม่ขอเปิดเผยนาม ยืนยันกับวีโอเอว่า มีการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกรุงเนปิดอว์ ระหว่างผู้แทนของจีนและเมียนมา เพื่อหาทางฟื้นการก่อสร้างทางรถไฟร่วมกันระหว่างการรถไฟเมียนมา (Myanma Railways) และกลุ่ม China Railway Eryuan Engineering Group (CREEG)
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า "เราระงับโครงการก่อสร้างไปเพราะการระบาดของโควิด แต่ขณะนี้จีนกำลังหารือเพื่อกลับมารื้อฟื้นโครงการทางรถไฟเมืองเจ้าผิวก์อีกครั้ง"
ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจทวิภาคีระหว่างจีนกับเมียนมา ว่าด้วยการก่อสร้างทางรถไฟคุนหมิง-เจ้าผิวก์ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าราว 9,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน และเป็นหนึ่งใน 33 โครงการที่ประธานาธิบดีสีลงนามไว้ระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อเดือนมกราคม ปีค.ศ. 2020
ในครั้งนั้น ทั้งจีนและเมียนมาต่างเห็นชอบกับเส้นทางของทางรถไฟส่วนแรกที่ต้องผ่านพื้นที่หุบเขาห่างไกล รวมทั้งดินแดนที่กองกำลังชาติพันธุ์ต่อสู้กับกองทัพเมียนมามานานหลายทศวรรษ
แต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ของเมียนมาและจีนได้ร่วมกันสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการนี้อีกครั้งและผ่านความเห็นชอบเมื่อปี 2022 จากนั้นจึงได้มีการเตรียมสำรวจและก่อสร้างส่วนที่สองเมื่อปลายปีที่แล้ว อ้างอิงจากรายงานในเว็บไซต์ของสื่อ Frontier Myanmar และได้รับการยืนยันจากโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการเมียนมา เติ้ง สีจุ้น ประชุมร่วมกับผู้แทนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาที่รัฐฉาน ซึ่งรวมถึงกองกำลังปลดปล่อยคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) กองกำลังรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army - NDAA) เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการทางรถไฟจากยูนนานถึงเจ้าผิวก์
การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสานสัมพันธ์กับกองกำลังชาติพันธุ์ พร้อมไปกับการโน้มน้าวให้พวกเขาทำข้อตกลงหยุดยิงและยอมรับรัฐบาลทหาร
ก่อนหน้านี้ บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน ระบุถึงความกังวลต่อเสถียรภาพในเมียนมาและการสนับสนุนจากชาติตะวันตกให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร
ทั้งนี้ ทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างจีนกับไทยผ่านประเทศลาว กำหนดจะเริ่มให้บริการปลายเดือนพฤษภาคมนี้ โดยรถไฟเชื่อมสามประเทศดังกล่าวจะให้บริการวันเว้นวัน ก่อนที่จะเพิ่มเป็นวันละเที่ยวภายในเดือนมิถุนายน อ้างอิงจากรายงานที่เปิดเผยเมื่อต้นเดือนมีนาคม
- ที่มา: วีโอเอ ภาคภาษาพม่า