ปีนี้จะมีนักเรียนชาวไต้หวันแข่งขันสอบ entrance เข้ามหาวิทยาลัยเกือบหนึ่งแสนห้าหมื่นคน วิชาที่สอบจะยังไม่มีอะไรใหม่ นอกจากคำนวณและภาษาแล้ว ก็จะเป็นความรู้ที่ได้เรียนและท่องจำในชั้นมัธยมปลาย แต่อีกสามปีข้างหน้า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไต้หวันจะเปลี่ยนทั้งเนื้อหาและรูปแบบ
ทางการไต้หวันเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของตนกำลังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจีนและเกาหลีใต้ เพราะคนหนุ่มคนสาวชาวไต้หวันสมัยนี้ ไม่อยากเสี่ยงตั้งบริษัททำธุรกิจ หรือคิดค้นอุปกรณ์ไฮเทครุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา
กระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันจึงจะเริ่มกระบวนการใหม่สำหรับการคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นยอดสิบแห่งของประเทศ ในอีกสามปีข้างหน้า กระบวนการดังกล่าวจะรวมการสัมภาษณ์ และให้ความสนใจกับกิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ ของนักเรียนด้วย ส่วนการสอบข้อเขียนจะเป็นเพียงการพิสูจน์ว่า นักเรียนมีความรู้ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น
โครงการสอบ entrance ใหม่นี้จะเริ่มนำมาใช้ในระหว่างปี ค.ศ. 2018 ถึง 2021
Ma Hsiang-ping รองผู้อำนวยการ ฝ่ายอุดมศึกษา ของกระทรวงฯ บอกว่า ระบบการสอบ Entrance ใหม่ที่หลากหลายออกไปนี้ มุ่งจะกลั่นกรองหาคนที่สนใจในนวัตกรรมหรือการประกอบการ
เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาฯของไต้หวันผู้นี้ กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ อยากจะเห็นการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมปลาย ที่ไม่มุ่งเน้นแค่การเรียนรู้และการท่องจำเพื่อให้สอบได้เท่านั้น แต่จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถหรือพรสวรรค์ที่มีด้วย
และเพื่อจะสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ทางกระทรวงฯจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาชั้นมัธยมเสียใหม่ด้วย
Chang Wei-chun นักศึกษากฎหมายปีสามที่มหาวิทยาลัย Ming Chuan ในกรุง Taipei เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษา และเสนอแนะว่าไม่ควรหยุดที่ชั้นมัธยม แต่ควรขยายไปถึงระดับอุดมศึกษาด้วย
นักศึกษาผู้นี้บอกว่า ควรจะมีการจัดกลุ่มติวในระดับอุดมศึกษา และที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำธุรกิจ เพราะความรู้ที่ได้รับในมหาวิทยาลัย ขาดทักษะในเชิงปฏิบัติ
Ma Hsiang-ping รองผู้อำนวยการ ฝ่ายอุดมศึกษา ของกระทรวงฯ ให้ความเห็นด้วยว่า ขนบธรรมเนียมของไต้หวันที่ถ่ายทอดสั่งสอนกันมา จากบิดามารดาสู่ลูกหลาน ไม่สนับสนุนการทดลองของใหม่ๆ แต่อยากจะให้ลูกหลานมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันผู้นี้ บอกว่า วิชาตามมหาวิทยาลัยที่มุ่งกระตุ้นการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ นั้น มีนักศึกษาให้ความสนใจและลงทะเบียนเรียนกันมาก
เศรษฐกิจไต้หวันพึ่งพาอาศัยการส่งออกสินค้าไฮเทคเป็นหลัก และในการจัดอันดับสำหรับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในปีที่แล้ว โดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ซึ่งเป็นสถาบันสอนการบริหารธุรกิจชั้นนำของสวิสเซอแลนด์ ไต้หวันติดอันดับที่ 14 ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ และ มาเลเซีย