เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันมีคำเตือนออกมาว่า จีนกำลังจะก้าวหน้าเลยไต้หวันไปในเรื่องนวัตกรรมและการสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และในอดีตเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันเติบโตก้าวหน้ามาได้
ทำไมหนุ่มสาวชาวไต้หวันในสมัยนี้ จึงไม่สนใจกับการกล้าได้กล้าเสีย หรือการขาดสปิริตสำหรับการประกอบการ สร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาเหมือนแต่ก่อน
นาย Yang Lian-fu เจ้าของสำนักพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ให้ความเห็นว่า บิดามารดาชาวไต้หวันชักจูงลูกให้หางานทำที่มั่นคงปลอดภัย และไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกๆ เลย
เขาบอกว่าคนหนุ่มคนสาวสมัยนี้อยากมีชีวิตที่มีคุณภาพ ในขณะที่ระบบการศึกษาของไต้หวันขาดแรงกดดัน ถ้าขยันเรียน ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อไต้หวันกำลังเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาอาศัยการเกษตรมาเป็นเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าตั้งแต่พลาสติกไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สำหรับผู้บริโภค ผู้คนแข่งขันกันจัดตั้งบริษัทธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จและยังเห็นได้จนทุกวันนี้ก็มีเช่นบริษัท Evergreen Marine ผู้ขนส่งทางเรือขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของโลก และ นาย Wang Yung-ching ผู้ก่อตั้ง Formosa Plastics Group ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
แต่บิดามารดาสมัยนี้ไม่อยากเห็นลูกประสบความยากจนหรือเผชิญความเสี่ยงทางธุรกิจ นาย Tony Phoo นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Standard Chartered ในกรุงไทเป บอกว่าจีนกำลังจะเลยหน้าไต้หวันไป เพราะนอกจากจะมีฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าแล้ว ยังมีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่กว่ารองรับด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ไต้หวันผู้นี้ บอกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด และแข่งขันได้ดีมากขึ้นทั้งในแง่เทคโนโลยีและความสามารถ และว่าจีนกำลังดึงดูดคนเก่งๆ จากต่างประเทศ และยังหาซื้อเทคโนโลยีของไต้หวันได้ง่ายๆ จากตลาดต่างประเทศด้วย
ตัวเลขของธนาคารโลกชึ้ให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าไฮเทคของจีน เพิ่มขึ้นจาก 5% เมื่อราวๆ 25 ปีที่แล้ว มาเป็น 26% ในเวลานี้
ในขณะที่ คนไต้หวันไปสอบเพื่อเข้าทำงานรัฐบาลเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว หรือเกือบแปดแสนคนต่อปี ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2002 – 2012 โดยมีผู้สอบผ่านเข้างานได้ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวในไต้หวันไม่อยากเสี่ยงทำธุรกิจ คือการที่อุปทานเงินร่วมลงทุนมีมากกว่าอุปสงค์ หรือความต้องการ นาย Jay Yang รองผู้อำนวยการสถาบัน Market Intelligence and Consulting Institute ในกรุงไทเป บอกว่าคนหนุ่มคนสาวไม่อยากรับภาระความเสี่ยงในการเริ่มต้นทำธุรกิจ
เขาบอกว่า แม้ยังมีการคิดค้นใหม่ๆ กันอยู่ต่อไป แต่ในระดับการประกอบการ มีไม่มากที่อยากจะเสี่ยง เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่จึงไปทำงานกับบริษัท IT
รองผู้อำนวยการสถาบัน Market Intelligence and Consulting Institute ในกรุงไทเป บอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม และกล่าวโทษว่าคนส่วนใหญ่หัวเก่า
รัฐบาลไต้หวันกำลังพยายามจะฟื้นฟูสปิริตและพลังของการค้นคว้าและการแข่งขันขึ้นมาด้วยการจัดตั้งแหล่งเพาะพลังทางอุตสาหกรรมไฮเทค ในขณะที่บริษัทเอกชนใหญ่สองแห่งเพิ่มการฝึกอบรมและเงินทุนเพื่อช่วยธุรกิจใหม่ๆ ให้ตั้งตัวได้
ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า มาตรการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่