ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ซูจี' ออกเดินทางไปศาลโลก-ชาวเมียนมาแห่ให้กำลังใจสู้แกมเบีย


Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi departs from Naypyidaw International Airport ahead of her appearance at the International Court of Justice, Dec. 8, 2019.
Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi departs from Naypyidaw International Airport ahead of her appearance at the International Court of Justice, Dec. 8, 2019.

ผู้นำรัฐบาลเมียนมา ออง ซาน ซูจี ออกจากเมียนมาในวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) เพื่อเดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ (International Court of Justice) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าการต่อสู้ทางกฎหมาย กับประเทศแกมเบีย ที่ยื่นฟ้องเมียนมาต่อ ICJ ในข้อหาที่ว่าเมียนมา "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชาวมุสลิมโรฮิงจะ

นางซูจีเดินทางออกจากสนามบินกรุงเนปิดอว์ในวันอาทิตย์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมคณะนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของเมียนมา โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ชาวเมียนมาหลายพันคนได้เดินขบวนเพื่อให้กำลังใจนางซูจีในการต่อสู้ทางกฎหมายกับประเทศแกมเบียในครั้งนี้

ชาวเมียนมาทั่วประเทศมีแผนเดินขบวนตลอดสัปดาห์นี้เพื่อให้กำลังใจนางซูจี ก่อนที่จะถึงวันขึ้นให้การต่อศาลโลก คือระหว่างวันที่ 10 - 12 ธันวาคม

เมื่อเดือนที่แล้ว แกมเบีย ประเทศเล็ก ๆ ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ยื่นฟ้องเมียนมา ต่อศาลโลก ระบุว่าเมียนมาทำให้ชาวโรฮิงจะหลายแสนคนต้องเดินทางออกจากถิ่นฐานเดิมของพวกเขาในรัฐยะไข่

ในการดำเนินคดีครั้งนี้ แกมเบีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม เดินเรื่องในนามองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization for Islamic Cooperation) ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีลักษณะนี้ผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ อาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ศาลอาจออกมาตรการระยะสั้นที่เป็นการคุ้มครองเหยื่อ ที่เรียกกว่า provisional measures ซึ่งอาจมีคำตัดสินออกมาในเดือนธันวาคมนี้

เมื่อ 2 ปีก่อน กองทัพเมียนมาใช้มาตรการที่รุนแรงและกว้างขวาง เพื่อตอบโต้การที่กองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮิงจะสังหารเจ้าหน้าที่ของทางการกว่า 10 คน

และตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2560 มีชาวมุสลิมโรฮิงจะกว่า 700,000 คน อพยพออกจากถิ่นที่อยู่เดิมของพวกเขาไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ผู้รอดชีวิตหลายคนเล่าถึงการที่ชาวโรฮิงจะถูกสังหารหมู่ ข่มขืนและถูกเผาบ้านเรือน

ก่อนหน้านี้สหประชาชาติเคยระบุว่า ความรุนแรงในเมียนมาเป็นกรณีตัวอย่างของการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ และตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบหาความจริง

XS
SM
MD
LG