ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลสำรวจชี้ ครอบครัวใช้เวลาคุณภาพร่วมกันมากขึ้นในช่วงต้นของการระบาดใหญ่


Joyce Lilly, right, holds her granddaughter Paige's hand alongside her husband, Anil, and dog Max at their new home, Tuesday, July 21, 2020, in Washingtonville, New York.
Joyce Lilly, right, holds her granddaughter Paige's hand alongside her husband, Anil, and dog Max at their new home, Tuesday, July 21, 2020, in Washingtonville, New York.
Family Quality Time During Pandemics
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:36 0:00


การสำรวจล่าสุดชี้ว่า การคืบคลานเข้ามาของโคโรนาไวรัสโควิด19 ในระยะแรกๆ ได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวอเมริกันได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีโอกาสเช่นนั้น

ในช่วงหลายเดือนแรกของการระบาดใหญ่ในสหรัฐฯ Dina Levy ได้พาลูกสาวและลูกชายตัวน้อยออกไปเดินเล่นกับเธอวันละสามครั้ง

หนูน้อยวัย 11 ขวบและ 8 ขวบเตะลูกฟุตบอลที่โรงเรียนมัธยมปลายในละแวกบ้าน วิ่งผ่านสิ่งกีดขวางที่เขียนด้วยชอล์ค นอกจากนี้พวกเขายังได้ทานอาหารด้วยกันทุกมื้ออีกด้วย

Levy ทนายความในรัฐนิวเจอร์ซีย์ หนึ่งในผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่ตอบแบบสำรวจใหม่จากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ กล่าวว่าเธอและสามีได้ใช้เวลากินอาหาร อ่านหนังสือ และเล่นกับลูกๆ มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ถึงมิถุนายน 2020 ซึ่งการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้นมีความเข้มข้นมากที่สุด

เธอกล่าวว่า การที่ลูกๆ ไปโรงเรียนและพ่อแม่ไปทำงานทำให้ต้องแยกย้ายไปคนละทาง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทุกคนได้กลับมารวมตัวกัน โรคระบาดครั้งนี้แม้จะเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับใครหลายๆ คน แต่ก็มีคุณค่ามากมายสำหรับหลายๆ ครอบครัวด้วย

ในรายงานผลการสำรวจที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ สำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ตอบแบบสอบถามนี้ และเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ผู้ปกครองที่ร่วมการสำรวจครั้งนี้มีอายุมากกว่า เกิดในต่างแดน แต่งงานแล้ว มีการศึกษา และอยู่เหนือระดับความยากจน นอกจากนี้ การสำรวจนี้ไม่ได้วัดผลกระทบในระยะยาวของการระบาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ปีปฏิทินที่สามแล้ว ดังนั้นจึงอาจไม่ทราบได้ว่าการใช้เวลากับลูกๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะคงอยู่ต่อไปหรือไม่

ทั้งนี้ การสำรวจได้อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองหนึ่งคนจาก 22,000 ครัวเรือนในช่วงสี่เดือนแรกของการระบาดใหญ่ในสหรัฐฯ และการสำรวจจากผู้ปกครองที่เป็นหน่วยอ้างอิงพบว่าผู้ปกครองร่วมทานอาหารกับบุตรหลานของตนเพิ่มขึ้นจาก 84% เป็น 85% ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 และจาก 56% เป็น 63% สำหรับผู้ปกครองคนอื่นๆ

นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า ผู้ปกครองบางคนอ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้นในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องรายได้ การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ ก็ตาม ในปี 2020 ผู้ปกครอง 69% รายงานว่าอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟังมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เทียบกับ 65% ในปี 2018 และ 64% ในปี 2019

work from home
work from home

Froma Walsh ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ Chicago Center for Family Health ที่มหาวิทยาลัย University of Chicago กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ทุกๆ ครอบครัวต่างรู้มาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดแล้วว่าตนมีความเครียดมากเกินไป เพราะเด็กๆ มีกิจกรรมมากมายจนพ่อแม่ต้องจัดสรรเวลากันวุ่นวาย เมื่อโรคระบาดใหญ่ทำให้ผู้คนไม่ได้ไปทำงาน และลูกๆ ก็ต้องอยู่ที่บ้าน ทุกคนจึงได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวอย่างแท้จริงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในทางกลับกัน รายงานการสำรวจพบว่าการพาลูกๆ ออกไปเที่ยวนอกบ้านนั้นลดลงเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางและการล็อคดาวน์ ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 85% ในปี 2018 และ 87% ในปี 2019 เป็น 82% ในปี 2020 และอัตรานี้ลดลงมากที่สุดในหมู่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยลดลงจาก 86% ในปี 2019 เป็น 75% ในปี 2020

Walsh กล่าวอีกว่า การระบาดใหญ่ทำให้หลายๆ ครอบครัวเกิดความตึงเครียด การเสียชีวิตของผู้คนอันเป็นที่รัก การตกงาน ความกังวลด้านการเงิน การเรียนออนไลน์ สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม และการหาผู้ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ล้วนแต่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนเหล่านั้น

และว่าประเด็นสำคัญก็คือ การที่หลายๆ ครอบครัวต่างประสบกับความตึงเครียดที่รุนแรงตลอดช่วงการระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อนี้ งานวิจัยของเธอแสดงให้เห็นว่าทุกๆ ครอบครัวจะมีความสุขที่สุดก็เมื่อได้แบ่งปันพลังบวกร่วมกัน และได้ใช้แนวทางที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีความผูกพันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

Eugene Brusilovskiy นักสถิติที่อาศัยอยู่บริเวณชานเมืองฟิลาเดลเฟียกล่าวว่า โรคระบาดใหญ่ทำให้เขาได้อยู่บ้านกับลูกสาวตัวน้อยซึ่งเกิดในช่วงเดือนแรกๆ ที่เชื้อไวรัสเริ่มแพร่ระบาด การทำงานจากที่บ้านทำให้เขาและภรรยาตัดสินใจไม่ส่งลูกสาวไปสถานรับเลี้ยงเด็กตามที่เคยวางแผนไว้ เขาได้มีส่วนร่วมในงานทุกอย่าง ตั้งแต่การช่วยให้นมลูกไปจนถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อม ได้พาไปเดินเล่น และได้เฝ้าดูเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตของลูกน้อย ซึ่งไม่สามารถทำได้หากต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ

อย่างไรก็ตาม Melissa Milkie นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัย Toronto ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะจำกัดกิจกรรมต่างๆ ของตนในขณะนี้จากการระบาดอีกครั้งของโคโรนาไวรัสที่ขับเคลื่อนโดยสายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง และเด็กๆ ต้องกลับไปทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอีกครั้ง พ่อแม่ก็จะต้องกลับไปสู่กิจวัตรแบบเดิมๆ

แต่ถึงกระนั้น บางครอบครัวที่ได้มีประสบการณ์การรับประทานอาหารเย็นร่วมกันมากขึ้น ก็อาจพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ แม้จะผ่านพ้นช่วงแรกๆ ของการระบาดใหญ่ไปแล้วก็ตาม

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG