กันนาร์ แครอลล์ (Gunnar Carroll) นักศึกษาชายปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย American University ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า ทุกมื้อ เขารับประทานเบอร์เกอร์หนึ่งที่กับมันฝรั่งทอด ตามด้วยพิซซ่าอีกหนึ่งชิ้นเเละโค้ก เขาย้ายมาเรียนที่กรุงวอชิงตันจากเขตบรูคลินในนิวยอร์ค
หลายคนเชื่อว่านักศึกษาปีหนึ่งรับประทานอาหารที่ขายในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยได้ตามใจชอบ เเละไม่มีใครมาคอยควบคุม ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
เเต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าความเชื่อนี้ไม่มีหลักฐานมายืนยัน
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of College Health เมื่อ 10 ปีที่แล้วชี้ว่า นักศึกษาปีหนึ่งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นไม่มากเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นกับเฟรชเเมนในอดีต สร้างความหวังแก่คนที่ศึกษาวิจัยเเละพยายามหยุดยั้งโรคอ้วนในอเมริกาในตอนนั้น คือปี ค.ศ. 2008 ซึ่งขณะนั้นมีชาวอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไปราว 66.9 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์เเละเป็นโรคอ้วน
แต่มาทุกวันนี้ สำนักงานควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ รายงานว่า ชาวอเมริกันที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปและที่เป็นโรคอ้วนได้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 71
นิโคล ลี มิฮาลโลโพลัส (Nicole L Mihalopoulos) ผู้ร่างรายงานผลการวิจัยครั้งนั้นกับสมาชิกทีมนักวิจัย พบว่า นักศึกษาปีแรกในมหาวิทยาลัย 125 คนที่ทีมงานศึกษา มีทั้งที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 7 กิโลกรัม บางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มเพียงสองสามกิโลกรัม และบางคนมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม
การศึกษานี้เปิดเผยว่า นักศึกษาที่มีประวัติทางเศรษฐกิจเเละสังคมที่ด้อยกว่า มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า
ในขณะที่ผลการศึกษาอื่นๆ มีการสรุปผลที่แตกต่างกันออกไป โดยผลการศึกษาเรื่องนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2017 หรือสองปีที่แล้วพบว่า การสรุปว่านักศึกษาปีหนึ่งจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 15 ปอนด์ในปีแแรกหรือที่ใช้คำว่า “Freshman 15” เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมากกว่าเป็นเรื่องจริง
คำว่า "Freshman 15" เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในสหรัฐฯ หมายถึงปริมาณของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง โดยคาดว่าอยู่ที่ 15 ปอนด์หรือ 7 กิโลกรัม ในช่วงปีเเรกของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ชาร์ลส โบม (Charles Baum) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Middle Tennessee State University กล่าวว่า ตนเองพบว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยปีแรกทำให้น้ำหนักตัวของนักศึกษาเพิ่มขึ้นโดยประมาณหนึ่งปอนด์หรือครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น
ศาสตราจารย์โบม สรุปเช่นนั้นหลังจากศึกษาข้อมูลจากผลการวิจัยของ National Longitudinal Survey of Youth (NLSY) ซึ่งได้จากการสำรวจนักศึกษาหลายพันคน โดยนักศึกษาจำนวนมากอยู่ในการสำรวจตลอดเวลาหลาย 10 ปี
อมานดา ชลิงค์ (Amanda Schlink) นักโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย American University ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า คำว่า “Freshman 15” อาจจะเป็นเพียงความเชื่อมากกว่าความเป็นจริง
เธอกล่าวว่า ตนเองไม่เชื่อในคำว่า “Freshman 15” อาจเคยใช้ได้ในอดีตเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในปัจจุบัน โดยชี้ว่าแนวโน้มที่ลดลงของการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวน่าจะเกิดจากการมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้เลือกรับประทานมากขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย เเละนักศึกษาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ที่มีผลต่อการเลือกอาหารที่จะรับประทาน และร้านอาหารฟ้าสฟู้ดในปัจจุบันมีสลัดใบเขียวหรือผักชนิดอื่นๆ ให้ลูกค้าได้เลือก
นอกจากนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยบางคนยังเดินหรือปั่นจักรยานมากขึ้นกว่าในนักศึกษาในอดีต ช่วยเผาผลาญพลังงานไปในตัว
แต่มีนักศึกษาหลายคนที่กลับบอกว่าน้ำหนักตัวลดตั้งเเต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งนักโภชนาการคาดว่าอาจมีสาเหตุหลักสองอย่างด้วยกัน นั่นก็คือการจัดการเวลาเเละความเครียด
ชลิงค์ กล่าวว่า นักศึกษาหลายคนมัวเเต่วุ่นกับการเรียนหนังสือจนลืมเรื่องอาหารการกิน บ้างก็ไม่มีเวลานั่งรับประทานอาหารเป็นเรื่องเป็นราว
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)