นักวิทยาศาสตร์พบว่า ใยแมงมุมและสายกีต้าร์มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน คือนอกจากจะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้แล้ว ยังสามารถปรับแรงสั่นสะเทือนตามช่วงความถี่ต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งแมงมุมใช้คุณสมบัติที่ว่านี้เข้าช่วยในการจับเหยื่อ
นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ พยายามแสดงให้เห็นว่า แมงมุมใช้วิธีควบคุมความตึงและความเหนียวของเส้นใยของพวกมัน ในการเพิ่มศักยภาพของประสาทการรับรู้ เมื่อมีเหยื่อหลงเข้าไปติดในเส้นใยเหล่านั้น
คุณ Beth Mortimer นักสัตววิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Oxford กล่าวว่า แมงมุมใช้วิธีรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนบนเส้นใย ซึ่งไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาจากเหยื่อที่เข้าไปติดใยแมงมุม แต่เกิดจากการควบคุมความตึงของเส้นใยที่แมงมุมกำหนดเอาไว้โดยเฉพาะ
นักวิจัยทดสอบเรื่องนี้โดยใช้แสงเลเซอร์ในการตรวจวัดระดับความถี่บนใยแมงมุมในช่วงเวลาต่างๆ และได้ใช้วิธีปรับระดับแรงสั่นสะเทือนของเส้นใยของแมงมุม เพื่อตรวจสอบปฏิกิริยาของพวกมัน
นักสัตววิทยาผู้นี้บอกว่า จากการคำนวณผลทางคอมพิวเตอร์พบว่าแมงมุมสามารถปรับเปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนบนใยแมงมุมได้ตามใจปรารถนา ด้วยการปรับความตึงและความเหนียวของเส้นใยเหล่านั้น ไม่ต่างจากการปรับสายกีต้าร์เพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ
นักวิจัยชี้ว่านี่คือคุณลักษณะพิเศษของแมงมุม ในการออกแบบและใช้ประโยชน์จากวัตถุที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะจากวัสดุที่พวกมันสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งอาจนำมาปรับใช้ในด้านวิศวกรรมและการออกแบบเครื่องมือต่างๆ ของมนุษย์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อพลังงานที่อยู่รอบตัว เช่น การทำความเข้าใจถึงแรงสั่นสะเทือน กับความมั่นคงของอาคารต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น
รายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุด้วยว่า นอกจากแมงมุมจะใช้ประโยชน์จากความสามารถที่ว่านี้ในการจับเหยื่อแล้ว พวกมันยังใช้วิธีเดียวกันนี้ในการหาคู่ได้ด้วย กล่าวคือแมงมุมตัวผู้จะส่งแรงสั่นสะเทือนในช่วงความถี่เฉพาะไปให้แก่แมงมุมตัวเมียในบริเวณนั้น เพื่อให้แมงมุมตัวเมียรับรู้โดยสัญชาติญาณว่าเป็นรูปแบบแรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาจากแมงมุมตัวผู้ตัวใด และตกลงจะรับแมงมุมเพศผู้ตัวนั้นเป็นคู่ตุนาหงันหรือไม่
ซึ่งจะว่าไปก็คงไม่ต่างจากการที่ผู้ชายเล่นดนตรีเพลงใดเพลงหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายหญิงได้รับรู้ความในใจของตนเอง
(ผู้สื่อข่าว Deborah Block รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)