สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สายการบินต้นทุนต่ำในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบรรดาบริษัทผู้ผลิตและผู้ให้เช่าเครื่องบินต่าง ๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลให้สายการบินเหล่านั้นยกเลิกแผนเพิ่มจำนวนเครื่องบินหรือซื้อเครื่องบินชุดใหม่มาทดแทนเครื่องบินชุดเดิม
เวลานี้ สายการบิน AirAsia ของมาเลเซีย, VietJet ของเวียดนาม และ Lion Air ของอินโดนีเซีย ต่างประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนและสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลง
ปัจจุบัน สายการบินโลว์คอสต์ในอาเซียนมีจำนวนการสั่งซื้อเครื่องบินรวมกัน 938 ลำ และเช่าเครื่องบินรวมกันราว 476 ลำ ตามข้อมูลของ Aviation Week
ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ บริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่าสายการบินในอาเซียนจะมียอดสั่งซื้อเครื่องบินรวมกัน 4,500 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า โดยเวียดนามนำมาเป็นอันดับหนึ่ง
แต่หลังจากเกิดการระบาดที่ส่งผลสะเทือนอย่างหนักต่อธุรกิจการบิน ทำให้บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Consultancy IBA ประเมินว่า จะมีเครื่องบินล้นตลาดโลกราว 2,500 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากสายการบินต่าง ๆ พากันยกเลิกยอดสั่งจองเครื่องบินของตน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า สายการบินต้นทุนต่ำที่มีเที่ยวบินในประเทศมาก ยังคงอยู่ในสถานะที่ดีกว่าสายการบินที่พึ่งพาเที่ยวบินระหว่างประเทศ แม้จะได้รับการสนับสนุนน้อยกว่าจากรัฐบาล นอกจากนี้การที่มีโครงสร้างธุรกิจที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าก็ทำให้สายการบินเหล่านั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการฝ่าฟันวิกฤติการณ์ลักษณะนี้เช่นกัน