องค์การตำรวจสากล (Interpol) เผยในวันพุธว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จุดชนวนให้เกิดคลื่นการค้ามนุษย์และศูนย์คอลเซนเตอร์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่แพร่สะพัดไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่ขยายจนกลายเป็นเครือข่ายระดับโลก ทำเงินไปได้มากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี กำลังกลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่น่ากังวลแล้ว
เยอร์เกน สต็อค เลขาธิการขององค์การตำรวจสากล กล่าวเมื่อวันพุธเกี่ยวกับปัญหาค้ามนุษย์ในอาเซียนว่า “มีแรงขับเคลื่อนจากการไม่เปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้างธุรกิจใหม่ และเร่งตัวเพิ่มขึ้นด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทำงานกันในระดับที่ไม่อาจจินตนาการได้เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน”
สต็อค เสริมว่า “สิ่งที่เริ่มต้นจากภัยคุกคามด้านอาชญากรรมระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นวิกฤตค้ามนุษย์ระดับโลก ที่มีเหยื่อนับล้านทั้งที่อยู่ในศูนย์คอลเซนเตอร์และเป็นเป้าหมายของอาชญากรข้ามชาติเหล่านี้”
เลขาฯ Interpol บอกด้วยว่า แม้ว่าธุรกิจค้ายาเสพติดยังคงสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 40-70% ให้กับองค์กรเหล่านี้ แต่ศูนย์คอลเซนเตอร์ใหม่ ๆ ซึ่งมักมีแรงงานที่ถูกลวงมาว่าจะให้ทำงานที่ถูกกฎหมาย ได้ช่วยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหารายได้เพิ่มเติมจากการค้ายาเสพติด “เราได้เห็นกลุ่มอาชญากรข้ามชาติกระจายเส้นทางรายได้ในธุรกิจอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าและรถที่โจรกรรมมา”
ทาง Interpol ประเมินว่า รายได้ที่ผิดกฎหมายราว 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ ได้ส่งผ่านมายังระบบการเงินโลกทุกปี และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติสามารถทำรายได้มากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ขณะที่เลขาฯ Interpol ได้ชื่นชมสิงคโปร์ในความสำเร็จเรื่องการเปิดโปงคดีฟอกเงินครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีสินทรัพย์ที่ยึดมาได้มากกว่า 2,230 ล้านดอลลาร์
ทางสหประชาชาติ ระบุเมื่อปีที่แล้วว่า มีผู้คนมากกว่า 100,000 คนที่ตกเป็นเหยื่อให้เข้าไปทำงานในศูนย์คอลเซนเตอร์ที่กัมพูชา และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน เมียนมาได้ส่งตัวผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวจีนหลายพันคนให้กับทางการจีน อีกทั้งในรายงานการสืบสวนของรอยเตอร์เมื่อปีที่แล้ว ได้ลงรายละเอียดของการถือกำเนิดขึ้นของอาชญากรไซเบอร์แห่งใหม่ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนในประเทศไทย
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น