องค์การตำรวจสากล หรือที่รู้จักกันในนาม อินเตอร์โพล (Interpol) มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งเสริมให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกทำงานร่วมกัน แต่ในระยะหลัง อินเตอร์โพล ตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าได้กลายเป็นเครื่องมือของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรืออำนาจนิยม เช่น รัสเซีย และตุรกี เพื่อเล่นงานคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่อาศัย หรือหลบหนีอยู่ต่างประเทศ
อาวุธที่สำคัญของอินเตอร์โพล คือ การออก “หมายแดง” หรือ “Red Notice” เพื่อแจ้งให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกจับกุมบุคคลที่มีหมายจับ หรือผู้ร้ายข้ามแดน
ประเทศสมาชิกสามารถขอให้อินเตอร์โพลออก “หมายแดง” ได้ ตราบใดที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มีอยู่ โดยองค์การตำรวจสากลมีการตรวจสอบคำขอออกหมายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปีที่ผ่านมา อินเตอร์โพล ออกหมายแดงไปถึง 13,516 ฉบับ ซึ่งมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ในจำนวนนี้ มีหมายแดงที่ออกมาเพื่อเล่นงานทางการเมืองผู้ที่มีความเห็นต่างหรือขัดแย้งกับรัฐ
อินเตอร์โพล หรือ องค์การตำรวจสากล ไม่ใช่องค์การ หรือสำนักงานตำรวจที่มีอำนาจในการสืบสวนหรือจับกุม เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก 194 ประเทศ และทำหน้าที่แจ้งเตือนประเทศเหล่านั้นให้เฝ้าระวังบุคคลที่ทางการกำลังจับตาดูอยู่ ผ่านการใช้ “notice” หรือ “หมาย” สีต่าง ๆ โดยหมายแดง หมายถึง หมายสำหรับผู้ที่ประเทศผู้ยื่นคำร้องต้องการจับกุมตัวเพื่อไปดำเนินคดี ส่วนหมายเหลือง ใช้เพื่อต้องการเสาะหาผู้ที่เชื่อว่าเป็นบุคคลสูญหาย เป็นต้น
การใช้หมายแดงในทางที่ผิด เป็นปัญหาของอินเตอร์โพลมานานหลายปี นักวิจารณ์มองว่า ส่วนหนึ่ง เกิดจากความง่ายในการป้อนข้อมูลเพื่อขอให้อินเตอร์โพลออกหมายแดง หรือหมายอื่นๆ โดยประเทศสมาชิกเพียงแค่ต้องกรอกข้อความผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มี “หมายแดง” เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ประเทศที่เชื่อว่าใช้ หมายแดง ในทางที่ผิดมากที่สุด คือ ตุรกี ตามด้วย รัสเซีย จีน และกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน ทาจีกิสถาน และอุซเบกิสถาน
ในสหรัฐฯ เอง ถึงแม้จะมีการใช้ “หมายแดง” เพื่อกำจัดอาชญากรหลายพันคนออกจากประเทศ แต่การอาศัย “หมายแดง” ของอินเตอร์โพลเพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูหลักฐานอื่น ๆ ทำให้มีหลายคนถูกจับกุมและกักขังโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น กรณีที่นักธุรกิจชาวรัสเซีย ถูกจับกุมตัวในระหว่างการสัมภาษณ์เพื่อขอลี้ภัย เพียงเพราะเขามี “หมายแดง” จากอินเตอร์โพล ที่ระบุว่าเขา “เป็นภัยต่อสังคม มีความเสี่ยงที่จะหนีออกนอกประเทศ และให้จับกุมโดยทันที”
ในประเทศไทย ก็เคยมีกรณีของ นาย ฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ถูกจับกุมขณะเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา หลังจากที่บาห์เรนขอให้อินเตอร์โพลออกหมายแดงจับกุม ถึงแม้ว่า ฮาคีม จะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และได้รับสิทธิพำนักอาศัยถาวรในประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
กรณีของ ฮาคีม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การออกหมายแดงของอินเตอร์โพล ที่สื่อต่างชาติรายงานว่าผิดกฎระเบียบ เพราะอินเตอร์โพลห้ามไม่ให้ประเทศต้นทางขอออกหมายแดงจับกุมพลเมืองของตน หากพลเมืองผู้นั้นขอลี้ภัยไปประเทศอื่นแล้ว ซึ่งฮาคีม ถูกกักขังอยู่ในไทยเป็นเวลากว่า 2 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัว
ขณะนี้ สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐ กำลังผลักดันร่างกฎหมายที่จะหยุดการนำเอาหมายแดงไปใช้เพื่อผลทางการเมือง โดยจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตรวจสอบหมายแดงของอินเตอร์โพลเพิ่มเติม และห้ามไม่ให้มีการจับกุมใครคนใดคนหนึ่ง โดยอ้างอิง “หมายแดง” เพียงอย่างเดียว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เอ็ดเวิร์ด โอ คาลลาฮาน เคยกล่าวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้มีการใช้ อินเตอร์โพล เป็นอาวุธรังแกนักข่าว ผู้ต่อต้านรัฐบาล และคนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหง
อย่างไรก็ตาม อินเตอร์โพล ก็เคยเข้าแทรกแซงในกรณีที่เห็นโต้ง ๆ ว่ามีการขอออกหมายแดงในทางที่ผิด เช่นเมื่อตุรกี ยื่นขอให้ออกหมายจับ “คนนับพันนับหมื่น” ที่ทางการกล่าวหาว่าพัวพันกับการพยายามปฏิวัติล้มรัฐบาลที่สุดท้ายแล้วไม่เป็นผล ในตอนนั้น อินเตอร์โพลไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอของตุรกี ทำให้นักวิจารณ์มองว่า เป็นสัญญาณทีดี ที่อย่างน้อย อินเตอร์โพลยังเข้ามาดูแลและจัดการการนำหมายแดงไปใช้ในทางที่ผิดอย่างโจ่งแจ้ง