รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายห้ามขายและห้ามรับประทานเนื้อสุนัขแล้วในวันอังคาร ท่ามกลางความยินดีของบรรดานักรณรงค์เพื่อสิทธิสัตว์ และการต่อต้านของผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุนัขเพื่อการบริโภคในเกาหลีใต้
ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 208 ต่อ 0 และมีผู้งดออกเสียงสองคน
กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2027 และหากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 22,000 ดอลลาร์
กฎหมายห้ามขายและห้ามรับประทานเนื้อสุนัข ถือเป็นความพยายามนับสิบปีของกลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิสัตว์ เพื่อยุติวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายร้อยปี
พรรครัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ได้นำเสนอกฎหมายที่จะยกเลิกการเลี้ยงและขายสุนัขเพื่อการบริโภค โดยจะมีช่วงเวลาผ่อนผันสามปี และให้มีเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องปิดธุรกิจจากกฎหมายดังกล่าว
การกินสุนัขถือเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วบนคาบสมุทรเกาหลี โดยเชื่อว่าเนื้อสุนัขมีสรรพคุณคลายความร้อนในฤดูร้อน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การบริโภคเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้ไม่ได้พบเห็นแพร่หลายทั่วไปอย่างที่เคย แม้บางภัตตาคารก็ยังมีเมนูเนื้อสุนัข และยังมีผู้สูงอายุบางคนที่ยังคงกินเนื้อสัตว์สี่เท้านี้อยู่
คิม กอนฮี สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ คือผู้ที่เป็นกระบอกเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์การบริโภคเนื้อสุนัข และประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ผู้เป็นสามี ยังรับเลี้ยงสุนัขจรจัดอีกด้วย
ที่ผ่านมา กฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัขไม่ได้รับการรับรอง เนื่องจากการประท้วงจากวงการอุตสาหกรรมเนื้อสุนัข และประเด็นข้อกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เช่น ฟาร์มสุนัขและร้านอาหาร
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้ ระบุว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้มีฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขราว 1,150 แห่ง โรงเชือด 34 แห่ง บริษัทกระจายสินค้า 219 แห่ง และมีร้านอาหารราว 1,600 แห่งที่มีเนื้อสุนัขอยู่ในเมนู
ขณะที่ ผลการสำรวจของแกลลัพ โพล ในเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ชี้ว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 64% คัดค้านการบริโภคเนื้อสุนัข และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 8% เท่านั้นที่ได้กินเนื้อสุนัขในช่วงปีที่ผ่านมา น้อยกว่าระดับ 27% เมื่อปี 2015
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์