พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเมื่อวันศุกร์ เตรียมออกกฎหมายพิเศษยกเลิกการกินเนื้อสุนัข ซึ่งแม้จะมีการบริโภคมาอย่างยาวนาน แต่ก็ได้รับเสียงต่อต้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากในและนอกประเทศ
รอยเตอร์รายงานว่า ยู อุยดง หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) กล่าวระหว่างการพบกันของเจ้าหน้าที่รัฐและนักกิจกรรมด้านสิทธิสัตว์ว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดความขัดแย้งในสังคมในเรื่องการบริโภคเนื้อสุนัข ผ่านการออกกฎหมายพิเศษเพื่อหยุดมัน”
ยูกล่าวว่า กฎหมายจะมีการเสนอโดยรัฐบาลและพรรคแกนนำรัฐบาลในปีนี้ และคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจนผ่านกระบวนการในรัฐสภาได้
ชอง ฮวางกึน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร กล่าวในการประชุมดังกล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว และจะมีมาตรการสนับสนุนอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้สำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปิดกิจการลง
การกินสุนัขถือเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วบนคาบสมุทรเกาหลี โดยเชื่อว่าเนื้อสุนัขมีสรรพคุณคลายความร้อนในฤดูร้อน แต่ในเกาหลีใต้ การกินเนื้อสุนัขไม่เป็นที่เห็นกันทั่วไปอย่างที่เคย แต่บางภัตตาคารก็ยังมีเมนูเนื้อสุนัข และยังมีผู้สูงอายุบางคนที่ยังคงกินเนื้อสัตว์สี่เท้านี้อยู่
คิม กอนฮี สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ เป็นผู้ที่เป็นกระบอกเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์การบริโภคเนื้อสุนัข ไม่เพียงเท่านั้น ประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ผู้เป็นสามี ยังรับเลี้ยงสุนัขจรจัดอีกด้วย
ที่ผ่านมา กฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัขไม่ได้รับการรับรองเนื่องจากการประท้วงจากวงการอุตสาหกรรมเนื้อสุนัข และประเด็นข้อกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เช่น ฟาร์มสุนัขและร้านอาหาร
กฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัขจะมีเวลาผ่อนผันการบังคับใช้สามปี และมีการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่จะต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
Humane Society International ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรด้านสิทธิสัตว์ ระบุในแถลงการณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวคือ “ฝันที่เป็นจริงสำหรับสำหรับพวกเราทุกคนที่รณรงค์กันอย่างหนักเพื่อหยุดความโหดร้ายทารุณนี้”
ในส่วนของภาพกว้างของอุตสาหกรรมเนื้อสุนัขนั้น ข้อมูลจากทางการระบุว่า มีฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขจำนวนราว 1,150 แห่ง โรงเชือด 34 แห่ง บริษัทกระจายสินค้า 219 แห่ง และมีร้านอาหารราว 1,600 แห่งที่มีเนื้อสุนัขอยู่ในเมนู
การสำรวจของแกลลัพ โพล ของเกาหลีเมื่อปีที่แล้วระบุว่ามีู้ตอบแบบสอบถาม 64% คัดค้านการบริโภคเนื้อสุนัข และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 8% เท่านั้นที่ได้กินเนื้อสุนัขในช่วงปีที่ผ่านมา น้อยกว่าเมื่อปี 2015 ที่อยู่ที่ 27%
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น