ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถามกันก่อนไหม? งานวิจัยชี้เด็กๆ ไม่พอใจที่พ่อแม่เอารูปของตนโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดียโดยไม่ถามก่อน


ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของเด็กและสิทธิของผู้ปกครอง

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:24 0:00
Direct link

คุณพ่อคุณแม่ที่เคยโพสต์รูปลูกลงเฟสบุ๊คหรืออินสตาแกรมเคยนั่งคุยกับเด็กๆ หรือไม่ว่า ลูกๆ ของคุณคิดอย่างไรกับการเผยแพร่เรื่องของลูกๆ บนโซเชี่ยลมีเดีย?

นั่นคือหนึ่งในคำถามที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ ต้องการทราบในการศึกษาไม่นานนี้

โจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ เด็กที่โตมากับเฟสบุ๊คซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน คิดอย่างไรกับการแชร์เรื่องราวของตนในสื่อสังคมออนไลน์? และการกระทำเช่นนั้นกระทบต่ออัตลักษณ์ของเด็กยุคใหม่อย่างไร?

หากลองคิดว่าพ่อแม่ของเด็กโพสต์รูปแรกเกิดของเขาเมื่อตอนที่เฟสบุ๊คเริ่มให้บริการ 12 ปีที่แล้ว ในตอนนี้เด็กคนนั้นจะยังอายุเพียงแค่ย่างเข้าวัยรุ่นเท่านั้น
นั่นหมายความว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเด็กต้องดูต่อไปว่า โซเชี่ยลมีเดียมีผลอย่างไรกับคนรุ่นที่โตมากับสื่อเหล่านี้?

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งตั้งคำถามกับเด็กๆ และผู้ปกครองว่า ควรมีกฎอะไรบ้างในการใช้สื่อออนไลน์ มีหลายประการที่ทั้งสองกลุ่มเห็นตรงกัน เช่น ห้ามเล่นโซเชี่ยลมีเดียขณะที่มีคนต้องการคุยด้วย

แต่เรื่องที่เด็กย้ำเป็นพิเศษคือ “ห้ามโพสต์รูปและเรื่องราวของพวกเขาก่อนขออนุญาต”

การศึกษาชิ้นนี้ที่หนังสือพิมพ์ New York Times นำมาเผยแพร่ ใช้กลุ่มตัวอย่างเด็กและผู้ปกครอง 249 คน โดยอายุของเด็กอยู่ระหว่าง 10 ถึง 17 ปี

ผลการศึกษาเป็นที่เห็นประจักษ์ว่า เด็กยุคใหม่ที่โตขึ้นมาจากโซเชี่ยลมีเดียต้องการควบคุมภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเองมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการที่พ่อแม่โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับลูกของตน ส่วนมากไม่ได้มีเจตนาต้องการแกล้ง แต่เพียงอยากแบ่งปันความหงุดหงิดใจให้คนอื่นๆทราบในการเลี้ยงลูก

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของเด็กและสิทธิของผู้ปกครองในการดูแลลูก รวมทั้งไม่ควรนำข้อมูลส่วนตัวของลูกออกสื่อออนไลน์ หากว่าไม่ต้องการถูกค้นเจอโดยบุคคลที่ไม่รู้จัก

(รายงานโดย New York Times/ เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG