นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า คลื่นความร้อนที่แคว้นไซบีเรียในขณะนี้และการละลายอย่างรวดเร็วของแผ่นน้ำแข็งทวีปอาร์กติกในรัสเซีย คือปัจจัยบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเกิดขึ้นอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
แคว้นไซบีเรียซึ่งเป็่นที่รู้จักกันดีในเรื่องอากาศที่เย็นจัด กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นจนถึงระดับ 38 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) รายงานว่า บางส่วนของไซบีเรียมีอุณหภูมิสูงกว่ารัฐฟลอริดาและรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ซึ่งคลื่นความร้อนนี้ทำให้เกิดไฟป่าและการละลายอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งในทวีปอาร์กติก
แคลร์ นูลลิส โฆษกของ WMO ระบุว่า ทวีปอาร์กติกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเกินสองเท่า ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์และประชากรในท้องถิ่นต่าง ๆ
โฆษก WMO กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอาร์กติกส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและประชากรในภูมิภาคอื่นของโลก และเป็นปัจจัยที่บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ขณะนี้ไฟป่ายังคงลุกไหม้ในหลายส่วนของไซบีเรีย ขณะที่คลื่นความร้อนกระจายไปทั่วบริเวณภาคเหนือของ Arctic Circle ส่งผลให้อุณหูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ามีไฟป่ามากกว่า 180 จุดในแคว้นไซบีเรียในขณะนี้
ตั้งแต่เดือนมกราคม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ของไฟป่าในบริเวณที่เรียกว่า Arctic Circle นั้น อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้ ยิ่งไปกว่านั้น การละลายของแผ่นน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในภูมิภาคนั้นไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เตือนว่า หมีขาว หรือ หมีขั้วโลก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อาจจะใกล้สูญพันธุ์ในช่วงสิ้นศตวรรษนี้เนื่องจากการละลายของแผ่นน้ำแข็ง โดยปริมาณก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นยังจะส่งผลให้อัตราการเกิดของเด็กทารกในทวีปอาร์กติกลดลงอย่างรวดเร็วภายในปี ค.ศ. 2100