ระเบิดเวลาของปัญหาโลกร้อนใกล้เข้ามาทุกที .. หลังการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Geoscience เมื่อวันจันทร์ จากการศึกษาที่วิเคราะห์ชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ใต้บริเวณขั้วโลกเหนือที่อุ่นขึ้นและเริ่มละลายอย่างเร่งตัวในช่วงที่ผ่านมา
ชั้นดินเยือกแข็ง คือ แผ่นชั้นดินหนาบริเวณอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือและแอนตาร์กติกคือบริเวณขั้วโลกใต้ที่แช่แข็งมานานหลายร้อยปี และมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพราะภายในชั้นดินดังกล่าว คือ แหล่งกักเก็บคาร์บอนมากถึง 40,000 ล้านตัน และมวลมหาคาร์บอนจากชั้นดินเยือกแข็งที่ละลายตัวลงก็พร้อมปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อซ้ำเติมวิกฤตโลกร้อนให้หนักหนาสาหัสเข้าไปอีก
ทีมวิจัยศึกษารูปแบบการละลายของชั้นดินเยือกแข็งนี้ โดยพบว่าในช่วงหน้าร้อน แผ่นดินเยือกแข็งชั้นบนจะอุ่นขึ้นและช่วยให้พืชพันธุ์ต่างๆ ผลิบานในช่วงเวลานั้น ฝั่งจุลินทรีย์ต่างๆ จะเริ่มย่อยสลายส่วนของรากพืชในชั้นดินและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในชั้นบรรยากาศอีกทอดหนึ่ง ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า rhizosphere priming
นักวิจัยกังวลว่าหากแผ่นชั้นดินเยือกแข็งนี้อุ่นตัวขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการดังกล่าวก็จะเร่งตัวขึ้นและปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้มากขึ้นไปอีก ขณะนี้แผ่นชั้นดินเยือกแข็งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไว้มากกว่าปริมาณคาร์บอนที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกถึง 2 เท่าตัว และกระบวนการดังกล่าวอาจเร่งให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาได้ถึง 40,000 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2100
ระหว่างที่โลกกำลังร้อนขึ้นทุกปี อากาศที่ขั้วโลกกลับวิกฤตกว่าพื้นที่อื่นๆ ตามข้อมูลขององค์การนาซาและสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA พบว่า อุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือเพิ่มสูงเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆของโลกถึง 2 เท่าตัว
และด้วยสภาพอากาศในขั้วโลกที่ร้อนกว่าปกติ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า หมีขาวขั้วโลกเหนือ กลายเป็นหนึ่งในสัตว์อีกหลายชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากน้ำแข็งในทะเลที่เร่งละลายจากภาวะโลกร้อน
การศึกษาจาก University of Toronto ใช้โมเดลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่หมีขั้วโลกเหนือจะอยู่รอดพ้นศตวรรษนี้ และพบว่า ถ้าโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมาก หมีขั้วโลกอาจสูญพันธุ์ในปี ค.ศ. 2100 แต่หมีขั้วโลกอาจมีทางรอดหากโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่านั้น
สตีฟ แอมสตรัป ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ บอกว่า ปกติแล้วน้ำแข็งทะเลจะละลายตั้งแต่ต้นฤดูร้อนและจะกลับมาแข็งตัวอีกครั้งช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง แต่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ตอนนี้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกก่อตัวช้าลงและหมีขั้วโลกมีเวลาหาอาหารน้อยลงเพราะต้องรอคอยนานขึ้นกว่าน้ำแข็งในทะเลจะกลับมา
ทีมวิจัยอธิบายว่า หมีขั้วโลกพึ่งพาแผ่นน้ำแข็งในทะเลเพื่อล่าแมวน้ำและสัตว์ทะเลอื่นๆ เป็นอาหาร และปริมาณน้ำแข็งในทะเลที่ลดลงจะทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องใช้ชีวิตบนบกมากขึ้น ซึ่งทำให้มันต้องใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมในร่างกายไปเรื่อยๆ จากภาวะขาดแคลนอาหาร
และหากทั่วโลกไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง อีก 80 ปีต่อจากนี้ ลูกหลานของเราอาจได้เห็นหมีขั้วโลกเพียงแต่ในสารคดีก็เป็นได้ ...