ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เกาหลีใต้ยืนยันไม่มีแผนส่งอาวุธร้ายแรงให้ยูเครน


FILE - South Korean army soldiers arrange 155mm howitzer shells during a military exercise in Goseong, South Korea, on April 4, 2016.
FILE - South Korean army soldiers arrange 155mm howitzer shells during a military exercise in Goseong, South Korea, on April 4, 2016.

เกาหลีใต้ยืนยันการตัดสินใจของตนที่ว่า จะไม่ส่งอาวุธร้ายแรงใด ๆ ให้กับกรุงเคียฟ หลังเอกสารที่รั่วไหลออกมาจากเพนตากอนแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่กรุงโซลเริ่มหารือกันเองว่า จะขายกระสุนปืนใหญ่ให้กับสหรัฐฯ ดีหรือไม่ เนื่องจากความกังวลว่า อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้อาจตกไปอยู่ในมือของกองทัพยูเครนได้

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวกับ ผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี ในวันพุธ ว่า “นโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ส่งมอบอาวุธร้ายแรงให้กับยูเครนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” และว่า “สาธารณรัฐเกาหลีและรัฐบาลสหรัฐฯ ได้หารือหนทางต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปกป้องเสรีภาพของยูเครนอยู่ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถยืนยันรายละเอียดของการหารือได้”

เกาหลีใต้จัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2022 และยังร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยตะวันตกต่าง ๆ ในการดำเนินมาตรการลงโทษต่อรัสเซียเพราะการทำสงครามนี้ด้วย

แต่ขณะที่ชาติตะวันตกเร่งเพิ่มการนำส่งอาวุธทั้งในด้านปริมาณและประเภทให้กับยูเครนเพื่อใช้ในการป้องกันตนเองจากรัสเซีย กรุงโซลไม่ได้ส่งอาวุธร้ายแรงใด ๆ ให้กรุงเคียฟ แม้กรุงวอชิงตันจะพิจารณาแผนสั่งซื้อกระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีใต้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อนำไปช่วยเติมคลังอาวุธของตนที่หดหายเพราะการให้ความช่วยเหลือยูเครนก็ตาม

ในเดือนมกราคม พันโท มาร์ติน ไมเนอร์ โฆษกเพนตากอน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี ว่า กรุงวอชิงตันยังคงอยู่ในช่วงหารือกับ “ฐานอุตสาหกรรมการทหารที่ไม่ใช่เป็นของรัฐบาล” ของเกาหลีใต้ ในประเด็น “ความน่าจะเป็นของการขายกระสุน” อยู่

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า การที่กรุงโซลยอมหารือประเด็นการขายกระสุนให้สหรัฐฯ น่าจะมาจากข้อมูลในเอกสารที่รั่วไหลออกมาจากเพนตากอนที่อ้างว่า หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ กำลังสอดแนมดูเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้อยู่

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า คิม ซุง-ฮัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้ที่ลาออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และ ยี มุน-ฮุย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ต่างกังวลว่า สหรัฐฯ จะไม่ได้เป็น “ผู้บริโภค” ของกระสุน หากกรุงโซลตัดสินใจขายอาวุธยุทโธปกรณ์นี้ให้

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ ทง-อา อิลโบ ของเกาหลีใต้ อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐในรายงานข่าววันพุธที่ระบุว่า กรุงโซลมีแผนจะให้ยืม แต่ไม่ได้ขาย กระสุนปืนใหญ่ 155 ม.ม. จำนวน 500,000 ชุดให้กับสหรัฐฯ อยู่

สก็อตต์ สไนเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการศึกษานโยบายสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ และนักวิจัยด้านเกาหลีใต้ศึกษา แห่ง Council on Foreign Relations กล่าวว่า “เอกสารที่หลุดออกมาชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคของความร่วมมือของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนยูเครน ในระดับที่อาจทำให้ต้นทุนทางการเมืองของประธานาธิบดี ยูน (ซุก ยอล) พุ่งสูงขึ้นได้ หากเดินหน้าทำการ(ดังกล่าว)”

ทั้งนี้ คำกล่าวหาที่ว่า สหรัฐฯ ทำการจารกรรมข้อมูลรัฐบาลกรุงโซล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักในเกาหลีใต้ โดย ลี แจ-มยอง หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นฝ่ายค้านกล่าวว่า รัฐบาลประธานาธิบดียูนต้องทำให้ “สหรัฐฯ ออกคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และการรับประกัน” ว่าจะไม่ทำการสอดแนมใด ๆ อีก

ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ระบุว่า ผู้นำกลาโหมเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ตกลงยอมรับกันว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งของเอกสารเพนตากอนที่หลุดออกมานำเสนอข้อมูลที่ปั้นแต่งขึ้นมา

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG