เอกสารลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ที่รั่วไหลออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ว่า เซอร์เบียตกลงส่งอาวุธให้แก่รัฐบาลยูเครน หรืออาจจัดส่งไปให้แล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาเซอร์เบียประกาศจุดยืนเป็นกลางในสงครามยูเครน และปฏิเสธไม่ใช้มาตรการลงโทษต่อรัสเซีย
เอกสารดังกล่าวระบุถึงท่าทีของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ต่อคำขอของยูเครนที่ต้องการให้ส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธหรือการฝึกฝนทางทหารเพื่อรับมือการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารลับหลายสิบฉบับที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เอกสารรั่วไหลครั้งร้ายแรงที่สุดในสหรัฐฯ ในรอบหลายปี
เอกสารดังกล่าวถูกจัดอยู่ในชั้น "ความลับ" และ "NOFORN" หรือห้ามเผยแพร่ให้หน่วยงานข่าวกรองและกองทัพต่างชาติ ลงวันที่ 2 มีนาคม และมีตราประทับของสำนักงานประธานคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีการยืนยันความถูกต้องของเอกสารเหล่านี้
เอกสารชื่อว่า "Europe| Response to Ongoing Russia-Ukraine Conflict" เป็นตารางข้อมูลแสดงจุดยืนของ 38 ประเทศในยุโรปที่มีต่อคำขอจากยูเครน ซึ่งในส่วนของเซอร์เบียนั้น ข้อมูลระบุว่าไม่จัดหาการฝึกฝนทางทหารให้แก่ยูเครน แต่ตกลงที่จะส่ง "ความช่วยเหลือด้านอาวุธ" หรือจัดส่งให้ไปแล้ว
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เซอร์เบียมีความปรารถนาทางการเมืองและศักยภาพทางทหารเพียงพอที่จะจัดหาอาวุธให้แก่ยูเครนได้ในอนาคตด้วย
รัฐมนตรีกลาโหมเซอร์เบีย มิลอส วูเซวิช มีแถลงการณ์ปฏิเสธเอกสารลับของเพนตากอนในวันพุธ โดยบอกว่า "เซอร์เบียไม่เคยและจะไม่ขายอาวุธให้แก่ยูเครนหรือรัสเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้" และว่า มีโอกาสที่อาวุธซึ่งผลิตในเซอร์เบียอาจจะ "โผล่ขึ้นมาเอง" ในพื้นที่ความขัดแย้ง "แต่นั่นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทางการเซอร์เบียเลย"
รัฐมนตรีวูเซวิช กล่าวด้วยว่า "ใครบางคนต้องการลากเซอร์เบียเข้าไปในความขัดแย้งนี้ แต่เรายังคงรักษานโยบายเป็นกลางของเราอย่างแน่วแน่"
เมื่อต้นปีนี้ มีรายงานที่เปิดเผยทางเทเลแกรมโดยกลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซีย ระบุว่าบริษัทผู้ผลิตตอาวุธในเซอร์เบียได้ส่งจรวดขนาด 122 มม. ไปยังยูเครนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ต่อมาทางรัสเซียขอให้เซอร์เบียอธิบายอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ ซึ่งทางบริษัทอาวุธ ครูซิก คอร์ป ออฟ วาลเจโว (Krusik Corp. of Valjevo) ออกมาปฏิเสธ และปธน.เซอร์เบีย ระบุว่าเป็น "การโกหกครั้งใหญ่"
สำนักข่าวรอยเตอร์ติดต่อไปยังสำนักงานประธานาธิบดีเซอร์เบีย และเพนตากอน เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
เวลานี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังสืบสวนเหตุการณ์เอกสารรั่วไหลครั้งนี้ ขณะที่เพนตากอนกำลังประเมินความเสียหายด้านความมั่นคง
ที่ผ่านมา รัฐบาลเซอร์เบียวางตัวเป็นกลางในสงคราม สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากเอกสารที่รั่วไหลนี้เป็นความจริง แสดงว่าเซอร์เบียอาจถูกกดดันอย่างหนักจากสหรัฐฯ ให้ส่งอาวุธแก่ยูเครน
- ที่มา: รอยเตอร์