ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ ‘ฟังปะการังคุย’ หวังเข้าใจความเป็นไปในท้องทะเล


A researcher deploys a hydrophone, which helps to record underwater soundscape for a pilot project using artificial intelligence system to identify reef health, June 24, 2019.
A researcher deploys a hydrophone, which helps to record underwater soundscape for a pilot project using artificial intelligence system to identify reef health, June 24, 2019.

ทีมงานที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการศึกษาเสียงใต้น้ำที่เกิดจากปะการังเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลชนิดนี้

ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก ๆ ที่ก่อตัวขึ้นจนมีโครงสร้างคล้ายหินขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าแนวปะการัง ซึ่งจะอยู่ในทะเลน้ำอุ่น

นักวิทยาศาสตร์ได้ฟังการบันทึกเสียงใต้น้ำจากเกาะต่าง ๆ ในภาคกลางของอินโดนีเซียเพื่อการเรียนรู้ และได้พบว่า แนวปะการังทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ มากมาย และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชมากมายหลายชนิด

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้เสียงที่ถูกบันทึกไว้หลายร้อยคลิปในการฝึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ติดตามสุขภาพของแนวปะการังโดยการฟังเสียง

A hydrophone that is used to record underwater soundscape is placed on a reef in the sea of the Spermonde archipelago.
A hydrophone that is used to record underwater soundscape is placed on a reef in the sea of the Spermonde archipelago.

เบน วิลเลียมส์ (Ben Williams) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า สำหรับแนวปะการังที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น จะมีเสียงแตกปะทุเหมือนเสียงกองไฟที่มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่โดยรอบและในปะการัง ขณะที่ แนวปะการังซึ่งมีสภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์นั้นจะมีเสียงที่แสดงถึงสภาพรกร้างว่างเปล่า

ในการศึกษานี้ ระบบ AI ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เช่น ความถี่และความดังของเสียง และข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ระบบ AI สามารถระบุว่า แนวปะการังนั้น ๆ มีสุขภาพดีหรือไม่ ได้ถูกต้องแม่นยำราว 92% ของการวิเคราะห์ทั้งหมด

นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ระบบ AI นี้จะช่วยให้กลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลกสามารถติดตามดูสุขภาพของแนวปะการังได้ และหวังว่า จะสามารถรวบรวมการบันทึกเสียงใต้น้ำจากแนวปะการังในออสเตรเลีย เม็กซิโก และเวอร์จิน ไอร์แลนด์ เพื่อช่วยติดตามความคืบหน้าของโครงการสร้างปะการังขึ้นมาใหม่

กลุ่มนักวิจัยนี้เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน แนวปะการังได้รับความเสียหายจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซคาร์บอนที่ทำหน้าที่ดักจับความร้อนไว้ทำให้อุณหภูมิที่ผิวน้ำของมหาสมุทรร้อนขึ้นถึง 0.13 องศาทุก ๆ 10 ปี และว่า ความเป็นกรดในมหาสมุทรก็เพิ่มขึ้นแล้วถึง 30% นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม

เครือข่ายตรวจสอบแนวปะการังทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติ เผยว่า โลกสูญเสียปะการังไปแล้วถึง 14% ระหว่างปี 2009 ถึง 2018

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวปะการังจะครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรเพียงไม่ถึง 1% แต่พวกมันก็เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลถึงกว่า 25% ไม่ว่าจะเป็นเต่า ปลา และกุ้งก้ามกราม นอกจากนี้ แนวปะการังยังมีความสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมการประมงอีกด้วย

ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษและอินโดนีเซียถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Ecological Indicators ฉบับเมื่อเดือนที่แล้ว

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG