ปลาซิคลิดส์ หรือปลาหมอสี ซึ่งเป็นปลาเขตร้อนสีสันสวยงาม คือหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่มีฟันงอกขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆตลอดช่วงอายุของพวกมัน
อาจารย์ Todd Steelman แห่งภาควิชาชีววิทยา แห่งสถาบันเทคโนโลยีรัฐจอร์เจีย หรือ Georgia Tech นำปลาหมอสีจากทะเลสาบมาลาวี มาศึกษาถึงคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว และพบว่าปลาหมอสีและปลาอีกหลายพันธุ์มีฟันมีสามารถงอกขึ้นมาใหม่ทั้งปากได้ในทุกๆ 50 วัน
ในรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of National Academy of Sciences อาจารย์ Todd Steelman และคณะ ได้ศึกษาเนื้อเยื่อของเซลล์ตัวอ่อนปลาหมอสี ก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นฟันหรือตุ่มรับรส และพบว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ ระหว่างเซลล์ของฟันกับเซลล์ของตุ่มรับรส ในช่วงแรกๆ ของชีวิต
นักวิจัยชุดนี้พบว่าการถ่ายทอดพันธุกรรมบางอย่างของปลาหมอสี คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์ตัวอ่อนพัฒนาไปเป็นฟันหรือเป็นตุ่มรับรส โดยระบุว่าฟันและตุ่มรับรสของปลาชนิดนี้เกิดมาจากเนื้อเยื่อแบบเดียวกัน ซึ่งอยู่ในกรามของปลาที่ยังเป็นตัวอ่อน ก่อนที่จะพัฒนาแตกต่างกันไปเมื่อเติบโตขึ้น
นักวิจัยใช้วิธีระบุตำแหน่งและแทรกแซงการเติบโตของเนื้อเยื้อดังกล่าวของปลาหมอสี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาไปเป็นฟันแทนตุ่มรับรสตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน
อาจารย์ Todd Steelman ชี้ว่าปลาไม่ใช่สัตว์สายพันธุ์เดียวที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้ เพราะในการทดลองที่จัดทำโดยผู้ร่วมโครงการที่มหาวิทยาลัย Kings College ในกรุงลอนดอน แสดงให้เห็นว่าหนูทดลองก็มีพันธุกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาเซลล์ตัวอ่อนไปเป็นฟันหรือตุ่มรับรสเช่นกัน
คณะนักวิจัยจาก Georgia Tech เชื่อว่า การศึกษาทั้งที่ทำกับปลาหมอสีและหนูทดลอง ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า เนื้อเยื่อบางอย่างของมนุษย์ก็อาจสามารถนำไปพัฒนาเป็นฟันเพื่อทดแทนส่วนที่หลุดร่วงไปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามการศึกษาชิ้นนี้ยังเป็นแค่เพียงช่วงเริ่มต้น ซึ่งยังต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาอีกมากมาย และคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้ที่เราจะสามารถสร้างฟันชุดใหม่ให้งอกขึ้นมาแทนฟันชุดเดิมที่หายไป
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Rosanne Skirble )