ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย New Castle ในอังกฤษ เปิดเผยว่า สัตว์ทะเลขนาดเล็กรูปร่างคล้ายกุ้ง ที่เรียกว่า แอมฟิพอดส์ (amphipods) ที่อาศัยอยู่ในร่องลึกก้นมหาสมุทร มาเรียน่า (Mariana Trench) กับร่องลึกก้นมหาสมุทร เคอร์มาเดค (Kermadec Trench) ซึ่งลึกกว่า 10 กิโลเมตร มีระดับสารเคมีอันตรายที่มนุษย์ผลิตขึ้นในปริมาณสูงมากสั่งสมอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นไขมัน
สารเคมีอันตรายดังกล่าวที่ว่านี้ เป็นสารเคมีกลุ่มสารพีซีบี หรือสาร polychlorinated biphenyls
สาร PCBs เป็นสารเคมีอันตรายที่มนุษย์สร้างขึ้นตั้งเเต่ยุค 1930 จนกระทั่งถึง 1970 ซึ่งมีการสั่งห้ามผลิตสารเคมีเหล่านี้ ทีมนักวิจัยประมาณว่ามีสาร PCBs ราว 1 ล้าน 3 เเสนตันถูกผลิตออกมาใช้รวมกันทั่วโลก
สารเคมีเหล่านี้เข้าไปสั่งสมอยู่ในสิ่งเเวดล้อมผ่านการปล่อยของเสียออกจากโรงงานอุตสาหกรรม และจากการรั่วไหลออกมาจากหลุมฝังกลบขยะ
สารเคมีอันตรายประเภทนี้ยังไม่สลายตัวไปอย่างง่ายดาย ทำให้คงอยู่ในสภาพเเวดล้อมได้่นานหลายสิบปี
Dr. Alan Jamieson หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้คนเชื่อกันทั่วไปว่าก้นบึ้งของมหาสมุทรยังมีความสะอาด เเละปลอดจากมลพิษทางสิ่งเเวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เเต่ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นเเล้วว่าความเชื่อที่ว่านี้ไม่เป็นความจริง
เขากล่าวอีกว่า ตัวอย่างของสัตว์ทะเลประเภทแอมฟิพอดส์ที่ทีมนักวิจัยนำมาศึกษา มีปริมาณสารเคมีอันตรายประเภทนี้สั่งสมในร่างกายสูงเท่าๆ กับตัวอย่างของสัตว์ชนิดเดียวกันที่อาศัยในอ่าว Suruga ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตอุตสาหกรรมที่มีมลพิษมากที่สุดเขตหนึ่งในทางตะวันตกเฉียงใต้มหาสมุทรเเปซิฟิก
ในการศึกษา ทีมนักวิจัยใช้ยานสำรวจใต้ทะเลลึกลงไปใต้ทะเล เพื่อนำเอาตัวอย่างของสัตว์ชนิดนี้จากร่องลึกก้นทะเลทั้งสองจุดดังกล่าวขึ้นมาศึกษาวิเคราะห์ ร่องลึกก้นมหาสมุทรทั้งสองจุดนี้อยู่ห่างกันเป็นระยะทาง 7,000 กิโลเมตร
Dr. Jamieson หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่าสารมลพิษเหล่านี้น่าจะจมลงไปถึงก้นมหาสมุทรผ่านขยะพลาสติกที่มีสารเคมีเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับซากสัตว์ที่ตายเเล้วเเละจมลงไปใต้ทะเล กลายเป็นอาหารของแอมฟิพอดส์
หลังจากนั้นแอมฟิพอดส์ที่มีสารเคมีอันตรายสั่งสมในร่างกายจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่ใหญ่กว่าต่อไป ทำให้สารเคมีอันตรายเหล่านี้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร
Dr. Jamieson หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่าการพบว่าสารเคมีอันตรายที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ในระดับสูงในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในก้นบึ้งของทะเลที่ห่างไกลจากคน และเป็นจุดที่คนเราเข้าไม่ถึง เเสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถสร้างผลกระทบระยะยาวที่ร้ายแรงต่อโลกได้อย่างที่เราไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน
(รายงานโดยห้องข่าววีโอเอกรุงวอชิงตัน / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)