ประธานาธิบดี Barack Obama ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามสหรัฐฯ ซื้อขายอาวุธกับเวียดนาม ที่ใช้มานานหลายสิบปี ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนแปลกใจ รวมทั้งรัสเซียที่เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับเวียดนาม ก็กำลังจับตามองท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมารัสเซียคือผู้ขายอาวุธให้กับเวียดนามรายใหญ่ที่สุด แต่การผูกขาดของรัสเซียกำลังถูกท้าทาย หลังจากประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามสหรัฐฯ ซื้อขายอาวุธกับเวียดนาม ที่ใช้มานานหลายสิบปี
คุณอเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ ประธานโครงการ รัสเซีย – เอเชียแปซิฟิก ที่ศูนย์ Carnegie Moscow กล่าวว่า ตลาดอาวุธของเวียดนามจะมีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น แต่รัสเซียมีเครือข่ายการค้าขายอาวุธที่เข้มแข็งในเวียดนาม ขณะที่กองทัพเวียดนามก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตอาวุธของรัสเซียมาเนิ่นนาน
จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนระบบการซื้อขายอาวุธในเวียดนามมากแค่ไหน? และจุดยืนของประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่จะเป็นอย่างไร?
สหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการห้ามซื้อขายอาวุธกับเวียดนามมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ในส่วนของอาวุธที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งการประกาศล่าสุดนี้รวมถึงการยกเลิกการห้ามขายอาวุธอานุภาพสูงด้วย อย่างไรก็ตาม การค้าขายทุกครั้งจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐฯ เสียก่อน
ด้านคุณแอนตัน ซเวทอฟ นักวิจัยที่สภากิจการระหว่างประเทศของรัสเซีย (RIAC) เชื่อว่า รัสเซียจะยังคงครอบครองตลาดการซื้อขายอาวุธในเวียดนามต่อไปอย่างน้อยอีกหลายสิบปี โดยเฉพาะในส่วนของอาวุธมูลค่าสูง เช่น เครื่องบินรบ เรือรบ และระบบป้องกันจรวดขีปนาวุธ ในขณะที่สหรัฐฯ อาจครอบครองตลาดอาวุธเฉพาะกลุ่ม เช่น ระบบตรวจตราทางทะเล หรือ เครื่องบินลาดตระเวน
เวลานี้เวียดนามกำลังพยายามเพิ่มศักยภาพทางทหาร เพื่อตอบสนองต่อท่าทีที่ก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ และภายในปีนี้คาดว่ารัสเซียจะส่งมอบเรือดำน้ำลำสุดท้ายจากทั้งหมด 6 ลำให้กับเวียดนาม
คุณแอนตัน ซเวทอฟ เชื่อว่า รัสเซียมองว่าการที่ ปธน.โอบาม่า ประกาศยกเลิกมาตรการซื้อขายอาวุธกับเวียดนาม คือสัญญาณเตือนให้รัสเซียเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับเวียดนามมากยิ่งขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ เวียดนาม เหงียน ซวน ฟุค พบปะกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ที่กรุงมอสโคว์ และทั้งคู่ยังได้ร่วมการประชุม Russia – ASEAN Summit ที่เมืองโซชิของรัสเซียด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า เวียดนามพยายามแสดงให้เห็นว่ายังเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เตรียมต้อนรับการเยือนของประธานาธิบดีโอบาม่าด้วย
การประชุม Russia – ASEAN Summit ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของรัสเซียที่จะมุ่งเน้นทางเอเชียมากขึ้น นอกเหนือไปจากการกระชับความสัมพันธ์กับจีน โดยรัสเซียพยายามแสดงให้เห็นว่ามิได้เลือกยืนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับเวียดนาม
บริษัทแก๊สของรัสเซียคือ Gazprom ได้ดำเนินการสำรวจน้ำมันอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ขายอาวุธให้กับทั้งสองประเทศด้วย
คุณอเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ แห่งศูนย์ Carnegie Moscow ชี้ว่า หากรัสเซียเลือกยืนข้างจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ เวียดนามก็อาจเอนเอียงไปหาสหรัฐฯ ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนเองก็คงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น
ในการปราศรัยที่กรุงฮานอยในวันจันทร์ ปธน.โอบาม่า เน้นย้ำว่าการยกเลิกมาตรการห้ามขายอาวุธให้กับเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – เวียดนามกลับมาเป็นปกติ และมิได้มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านอิทธิพลของจีนแต่อย่างใด แม้ดูเหมือนจีนจะไม่เชื่อเช่นนั้นก็ตาม
(ผู้สื่อข่าว Daniel Schearf รายงานจากกรุงมอสโคว์ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)