ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์วิกฤตเขื่อนเเตกในยูเครน หวั่นกระทบยาวนานหลายชั่วอายุคน


Russia Ukraine War Environmental Impact
Russia Ukraine War Environmental Impact

เหตุการณ์เขื่อน 'คาคอฟคา' เเตกเมื่อวันอังคารสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในยูเครน และสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรบริเวณลุ่มเเม่น้ำดนิเปอร์หลายหมื่นไร่ ตลอดจนความเสียหายต่อคลังเก็บอาวุธของยูเครนที่กำลังต่อสู้กับรัสเซีย

หากพิจารณาถึงผลระยะยาว ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ยังมาพร้อมกับสารพิษที่ตกค้างในโคลนตะกอนซึ่งไหลออกมา จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางรายหวนนึกถึงหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 'เชอร์โนบิล' เมื่อ 37 ปีก่อน

สำนักข่าวเอพีส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เคอร์ซอนซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบในยูเครน บทความนี้เล่าถึงสภาพบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม ทุ่งธัญพืชและฟาร์มผักผลไม้ซึ่งต้องอาศัยการชลประทานของเขื่อนแห่งนี้ที่จุน้ำได้ 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร แต่กลับค่อย ๆ เหือดแห้งไป ขณะที่ ปลานับพันนับหมื่นตัวกำลังนอนพะงาบ ๆ ในโคลน

กระทรวงเกษตรของยูเครนประเมินขนาดพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมว่าน่าจะกินบริเวณ 62,500 ไร่เฉพาะที่ในเคอร์ซอนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของของยูเครน ส่วนในเขตที่รัสเซียควบคุมอยู่น่าจะมีแหล่งเพาะปลูกที่จมน้ำอยู่บริเวณ "มากกว่านั้นหลายเท่า"

เขื่อน 'คาคอฟคา' ที่เเตกในวันอังคาร เป็นหนึ่งใน 6 เขื่อนบริเวณแนวเเม่น้ำดนิเปอร์

ระบบชลประทานดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อนภายใต้สหภาพโซเวียต เขื่อนทั้ง 6 แห่งถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกัน โดยคาคอฟคา คือ แห่งสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นในตอนนั้น

เมื่อรัสเซียบุกยูเครนเมื่อปีที่เเล้วเเม่น้ำแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่เเนวรบด่านหน้า ในเวลาต่อมารัสเซียเข้าควบคุมด้านใต้ของเเม่น้ำ และยึดเขื่อนคาคอฟคาได้ ระบบการประสานงานของเขื่อนทั้ง 6 จึงถูกละทิ้งไม่มีคนดูเเล

Russia Ukraine War Environmental Impact
Russia Ukraine War Environmental Impact

อิฮอร์ เมดูนอฟ ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วยการทำอาชีพหาปลาและนำเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการตกปลา กล่าวว่า เมื่อสงครามเกิดขึ้น อาชีพไกด์ของเขาได้รับผลกระทบ

แต่อิฮอร์ก็ยังปักหลักอยู่ที่เกาะเล็ก ๆ ในดนิโปรกับสุนัข 4 ตัวของเขา เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

มื่อเขื่อนคาคอฟคา แตก เขากล่าวกับเอพีว่า "น้ำเหือดหายไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา...ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านของผม และสิ่งที่เราทำงานให้ได้มันมาตลอดชีวิต มันหายไปหมดแล้ว"

กระเเสน้ำที่ไหลบ่าสร้างความเสียหายแก่อาวุธของยูเครนเช่นกัน

เอพีรายงานว่า คลังเก็บอาวุธและกระสุน พร้อมด้วยน้ำมันเครื่องจักรปริมาณ 150 ตันถูกน้ำพักลงไปในทะเลดำ

และในพื้นที่ใต้การควบคุมของรัสเซีย อุทยานเเห่งชาติแห่งหนึ่งถูกน้ำท่วมเป็นเหตุให้สัตว์ตายหลายพันตัว

สำหรับผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม คาเทียนา ฟิลิวตา ผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การอนุรักษ์ Ukraine Nature Conservation Group กล่าวว่า "ผลกระทบที่ร้ายเเรงที่สุดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยตรง..แต่น่าจะเป็นคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต"

ด้านหนึ่งสภาพเเวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันทำให้ผู้คนต้องคิดว่าในอนาคตพื้นที่ในเขตนี้ยังจะเหมาะสมต่อการเพาะปลูกหรือไม่

อีกด้านหนึ่งยังเกิดความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีด้วย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เขื่อนคาคอฟคาเป็นด่านสุดท้ายที่กักน้ำที่ไหลมาหลายร้อยกิโลเมตรผ่านเขตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สารเคมีและยาฆ่าเเมลงสะสมอยู่ในโคลนก้นเขื่อน

ฟิลิวตาบอกด้วยว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีผลต่อลูกหลานของเรา เช่นเดียวกับที่เราเผชิญกับผลที่ตามมาจากเหตุการณ์หายนะเชอร์โนบิล"

เธอบอกด้วยว่า พืชและต้นไม้น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการปรับตัวกับสภาพเเวดล้อมใหม่

Ukraine Russia War
Ukraine Russia War

ขณะนี้ ทางการยูเครนกำลังทดสอบระดับสารพิษในเศษตะกอน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นฝุ่นพิษเมื่อฤดูร้อนมาถึง ตามคำบอกเล่าของนักวิทยาศาสตร์ยูจีน ซิโมนอฟ แห่งกลุ่ม Ukraine War Environmental Consequences Working Group

คำถามที่สำคัญจากนี้คือ เมื่อสงครามดำเนินต่อไป จะสามารถดำเนินการซ่อมเเซมเขื่อนได้หรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ และเต็มไปด้วยความกังวล โดยรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน แอนดริจ เมลนิคกล่าวว่า การทลายลงของเขื่อนคือ "ภัยพิบัติร้ายแรงทางสิ่งเเวดล้อมในยุโรปที่รุนเเรงที่สุดตั้งแต่หายนะในเหตุการณ์เชอร์โนบิล"

  • ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG