ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลรัสเซียลาออกยกแผง! เปิดทางให้ 'ปูติน' แก้รธน.


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:05 0:00

นายกรัฐมนตรีรัสเซียพร้อมคณะรัฐมนตรีประกาศลาออกทันที หลังประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แถลงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เน้นการปรับโครงสร้างรัฐบาลเพื่อโอนถ่ายย้ายอำนาจจากประธานาธิบดีไปยังรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี โดยแผนดังกล่าวทำให้หลายคนเริ่มมั่นใจแล้วว่า ผู้นำรัสเซียตั้งใจที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกนาน

ดิมิทริ เมดเวเยฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีรัสเซีย นำทีมคณะรัฐมนตรีลาออกในวันพุธ หลัง วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย เสนอแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การลาออกยกคณะครั้งนี้เป็นการเปิดทางให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่จะทำให้ผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจการปกครองมากว่า 20 ปีคนนี้ สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปหลังหมดวาระในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ในระหว่างการแถลงนโยบายแห่งชาติ (State of the Nation) ประจำปี ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่นในกรุงมอสโก ประธานาธิบดีปูติน เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมๆ กับเพิ่มอำนาจของนายกรัฐมนตรีแทน รวมทั้งเสนอปรับโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจนำไปสู่การตั้งสภาความมั่นคงอิสระแห่งใหม่ที่ ปธน.ปูติน จะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดถูกมองว่าเป็นการเตรียมตัวถ่ายอำนาจปกครองประเทศให้ ปธน.ปูติน ซึ่งขณะนี้มีอายุ 67 ปี และต้องออกจากตำแหน่งปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2024 หลังปกครองรัฐบาลรัสเซียทั้งในฐานะประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999

ในการแถลงครั้งนี้ ปธน.ปูติน ระบุว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต ต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียมาไม่น้อยกว่า 25 ปี และจุดนี้ทำให้เชื่อว่า เขากำลังพุ่งเป้าไปยังว่าที่คู่แข่งชิงตำแหน่งดังกล่าวในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ประกาศว่า สนใจจะสมัครเข้าชิงชัยในปี ค.ศ. 2024 คือ มิคาอิล ฮอโดร์คอฟสกี้ นักธุรกิจชาวรัสเซียซึ่งเคยเป็นคู่แข่งของ ปธน.ปูติน และปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ฮอโดร์คอฟสกี้ ก็จะหมดสิทธิ์เข้าร่วมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยปริยาย

นอกจากนั้น ผู้นำรัสเซียยังเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขควรเพิ่มอำนาจให้แก่สภาที่ปรึกษาประธานาธิบดี และประเด็นอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบการเมืองของรัสเซีย โดยไม่ได้ให้รายละเอียด แต่หลายฝ่ายคาดว่า น่าจะมีเรื่องของการเข้ารวมกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เบลารุส ด้วย

FILE - Lawmakers are seen in session in the State Duma, the lower house of the Russian Parliament in Moscow, Russia, Sept. 27, 2018.
FILE - Lawmakers are seen in session in the State Duma, the lower house of the Russian Parliament in Moscow, Russia, Sept. 27, 2018.

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นักการเมืองฝ่ายค้านต่างก็ออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทันที และบางคนก็เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น การรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และถูกต้องตามกฎหมาย

ภายหลังการแถลงนโยบายเสร็จสิ้นไปไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีเมดเวเยฟ ออกแถลงการณ์ลาออกของคณะรัฐมนตรี โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เปิดเผยแถลงการณ์ของ นายกรัฐมนตรีเมดเวเยฟ ที่ระบุว่า ข้อเสนอของ ปธน.ปูตินนั้นจะนำมาซึ่งสมดุลของอำนาจ และรัฐบาลก็มีหน้าที่ช่วยให้ประธานาธิบดีมีโอกาสทำการตัดสินใจต่างๆ ที่จำเป็น และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 117 ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะลาออก

ในการนี้ ปธน.ปูติน ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณนายกรัฐมนตรีเมดเวเยฟ ที่จะเปลี่ยนไปรับตำแหน่งใหม่ในฐานะรองประธานสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีแทน และเสนอชื่อ มิคาอิล มิชูสทิน ที่ปัจจุบันดูแลงานด้านภาษีของรัฐบาล ให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยนายมิชูสทิน จะต้องปรากฎตัวต่อหน้าสมาชิกรัฐสภารัสเซียในวันพฤหัสบดี เพื่อตอบคำถามต่างๆ ก่อนจะได้รับอนุมัติขึ้นดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การประกาศลาออกของรัฐบาลรัสเซียทำให้นักลงทุนและตลาดตกใจ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลและตลาดหุ้นร่วงหนักทันที ก่อนจะรีบาวด์กลับมาในช่วงหลังของวันพุธ

XS
SM
MD
LG