นักวิเคราะห์คาดหมายกันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในรัสเซียที่จะสรุปผลในวันอาทิตย์นี้จะปูทางให้วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำรัสเซียอีกสมัยหนึ่งไปอีก 6 ปี
ขณะที่แทบไม่ต้องลุ้นผลเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องจับดูอย่างใกล้ชิดคือ การขับเคลื่อนประเทศของปูตินหลังได้ชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งจะยิ่งผนึกอำนาจของเขาให้เเข็งเเกร่งขึ้น กับระยะเวลายาวนาน 3 ทศวรรษเต็มที่เขาดำรงตำเเหน่งประธานาธิบดี รวมทั้งนายกรัฐมนตรีในบางช่วง
ความยาวนานของการดำรงอยู่ในอำนาจ ที่มาพร้อมกับการปราบผู้เห็นต่าง ทำให้ปูตินสามารถผลักดันนโยบายได้ด้วยความเด็ดขาด
บริน โรเซนเฟลด์ ศาสตรจารย์ด้านการเมืองต่างประเทศของมหาวิทยาลัยคอร์เเนล กล่าวว่า "การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย นั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น ปูตินมักจะรอเวลาที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมหลังการเลือกตั้ง"
ในบรรดานโยบายที่ไม่เป็นที่นิยม แผนระดมทหารครั้งใหญ่อีกรอบหนึ่งสำหรับการรบในยูเครน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
และในภาพใหญ่ รัสเซียน่าจะต้องการทดสอบความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มพันธมิตรโลกตะวันตก ที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาเเอตเเลนติกเหนือ หรือนาโต้
อะเล็กซานดรา วาครัวซ์ ผู้อำนวยการบริหาร หน่วยงานของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ชื่อ Davis Center for Russian and Eurasian Studies กล่าวว่าในอีกไม่กี่ปีจากนี้ รัสเซียน่าจะเดินเกมเพื่อทดสอบว่าประเทศสมาชิกนาโต้จะยังเหนียวแน่นหรือไม่กับ บทบัญญัติข้อที่ 5 หรือ Article 5
บทบัญญัติดังกล่าวระบุว่า หากประเทศสมาชิกนาโต้รายใดถูกโจมตี จะถือว่าเป็นการโจมตีต่อทุกประเทศที่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนี้
"ฉันไม่คิดว่าปูตินคิดว่าเขาจำเป็นต้องเเข็งเเกร่งว่าทุกประเทศ ทางกายภพ หรือทางทหาร เขาเเค่ต้องทำให้คนอื่นอ่อนเเอลง และเเตกแยกมากขึ้น" เธอกล่าว และเสริมด้วยว่า "แทนที่ (ปูติน) จะกังวลว่าต้องดูเเข็งเเกร่ง เขาน่าจะคิดว่า ฉันควรทำอย่างไรให้คนอื่นดูอ่อนเเอลง"
วาครัวซ์ กล่าวว่าการเดิมเกมของรัสเซียต่อนาโต้อาจมีรูปแบบเป็น การโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ
ในทางสังคม รัสเซียหลังการเลือกตั้งอาจจะมีนโยบายที่จำกัดสิทธิ์กลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ มากขึ้น
เมื่อปีที่เเล้วรัฐบาลเครมลิน ห้ามการเคลื่อนไหวระดับชาติของกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการประกาศว่าการขับเคลื่อนมีลักษณะสุดโต่ง และขัดกับค่านิยมดั้งเดิมตามแบบ Orthodox Church ของรัสเซีย ท่ามกลางอิทธิพลของโลกตะวันตก
ศาลรัสเซียยังได้ห้ามการดำเนินขั้นตอนข้ามเพศของชาว LGBTQ+
เบน โนเบิล รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองรัสเซียที่ University College London กล่าวว่าเขาเชื่อว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศน่าจะเจอการกดขี่มากขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ของปูติน
เขากล่าวว่า ในสายตาของเครมลิน การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ์ชาว LGBTQ+ "สามารถถูกมองว่าเป็นการนำเข้าของวัฒรธรรมตะวันตกอันถดถอย"
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น