เกิดเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่กลางค่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากเมียนมานับพันคนไร้ที่พักพิงและอาศัยนอนกลางแจ้งแทน
ชามซุด โดว์ซา รองผู้ตรวจการกิจการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ บอกกับ วีโอเอ ว่า กระท่อมซึ่งเป็นที่พักของผู้ลี้ภัยโรฮีนจาอย่างน้อย 1,000 หลังซึ่งส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่และผ้าใบ ในค่ายบาลูคาลี ถูกไฟเผาไหม้เป็นจุล พร้อมย้ำว่า “นี่เป็นเพียงตัวเลขประเมินเท่านั้น”
สำนักงานผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติในบังกลาเทศทวีตข้อความออกมาด้วยว่า อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ได้รับการฝึกอบรมการดับเพลิงและหน่วยดับเพลิงในพื้นที่สามารถควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ไว้ได้แล้ว
ในเวลานี้ ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้ แต่เจ้าหน้าที่บังกลาเทศเปิดเผยว่า มีการอพยพผู้คนจำนวนมากมายังที่ปลอดภัยไว้ได้
แต่ผู้ลี้ภัยบางรายบอกว่า ตนยังหาสมาชิกในครอบครัวของตนไม่พบหลังเกิดเหตุ
โมฮัมหมัด ไซฟุล ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายนี้กล่าวว่า เขาได้ออกรับความช่วยเหลือจากศูนย์แจกจ่ายที่อยู่ไม่ไกลจากกระท่อมที่พัก ตอนที่ไฟเริ่มลุกไหม้ และเปิดเผยกับ วีโอเอ ว่า สามารถหาภรรยาและลูก 4 คนเจอแล้ว แต่ยังหามารดาของตนไม่พบ ขณะที่ นูร์ โมฮัมหมัด ผู้ลี้ภัยอีกรายบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ลูกสองคนของเขาหายไปในช่วงที่เกิดเหตุ
ซอว์ยิด อัลเลาะห์ ผู้นำชุมชนผู้ลี้ภัยเปิดเผยว่า มีกระท่อมกว่า 3,000 หลังที่ถูกไฟเผาไป เพราะพื้นที่ตั้งของกระท่อมเหล่านั้นที่เป็นเนินเขาทำให้นักผจญเพลิงทำหน้าที่ได้ไม่สะดวก
อัลเลาะห์ บอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า “[เหตุการณ์ไฟไหม้] นั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้คน(ในค่าย) กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยซ้ำสอง เพราะถูกขับออกจากบ้านของตนแล้วต้องมาตกอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่อาศัยในค่ายนี้อีก
ชาฮีดุล อิสลาม จากหน่วยดับเพลิง กล่าวว่า ในเวลานี้ ยังไม่ทราบต้นตอของเพลิงไหม้ ขณะที่ มิซานูร์ เราะห์มาน ผู้ตรวจการกิจการด้านผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการกู้ชีพอยู่ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นหลังจากนี้
เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ถือเป็นอัคคีภัยครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปี โดยเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี ค.ศ. 2021 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน และผู้คนราว 50,000 คนกลายมาเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่ เหตุไฟไหม้เมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้วทำให้มีเด็ก 1 คนเสียชีวิตและผู้คนกว่า 2,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย
เราะห์มาน บอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า หน่วยงานข่าวกรองกำลังตรวจสอบรายละเอียดของสถานการณ์นี้อยู่ และมีผู้ต้องสงสัย 1 รายที่ถูกควบคุมตัวไว้แล้ว
รายงานข่าวระบุว่า มีชาวมุสลิมโรฮีนจาอย่างน้อย 740,000 คนเดินทางมาพักพิงตามค่ายผู้ลี้ภัยที่มีสภาพแออัดยัดเยียดกันอยู่แล้วในเขต ค็อกซ์ บาซาร์ ของบังกลาเทศ เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดยทั้งหมดหลบหนีออกมาจากพื้นที่รัฐยะไข่ เพื่อให้รอดพ้นความรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงและกองกำลังติดอาวุธที่นับถือศาสนาพุทธในเมียนมา โดยปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยเกือบ 1.1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งมีขนาดราว 28 ตารางกิโลเมตรของบังกลาเทศ
แต่เพราะรัฐบาลกรุงธากาจำกัดไม่ให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำมาหากินได้ หลายคนตกอยู่ในภาวะกดดันจนตรอกและเข้าไปมีส่วนพัวพันกับอาชญากรรมต่าง ๆ
- ที่มา: วีโอเอ