นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อ 66 ล้านปีก่อน มีอุกกาบาตพุ่งชนพื้นโลกบริเวณแหลม Yucatan ซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์จำนวนมากในเวลาต่อมา รวมทั้งไดโนเสาร์ ล่าสุดรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of National Academy of Science ตั้งสมมติฐานว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นอาจเป็นจุดกำเนิดของปลาที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
Elizabeth Sibert นักชีววิทยาสัตว์โบราณแห่ง University of California San Diego เชื่อว่าเมื่อหลายล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรบนโลกของเราแตกต่างจากที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมาก โดยมีสัตว์น้ำคล้ายปลาฉลามและปลาหมึกยักษ์เป็นผู้ครอบครองมหาสมุทรต่างๆ มีสัตว์เลื้อยคลานอาศัยอยู่ทั่วมหาสมุทร และมีปลาโบราณที่มีครีบคล้ายปลากระเบนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปลาในปัจจุบันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้มีจำนวนมากมายดังเช่นปัจจุบัน
นักวิจัยผู้นี้เปรียบเทียบซากฟอสซิลของปลาโบราณกับของปลาฉลามในตะกอนใต้มหาสมุทร ทั้งในส่วนที่เชื่อว่าเกิดก่อนและหลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หรือ Mass Extinction นักวิจัยพบว่าก่อนที่อุกกาบาตจะชนโลก สัดส่วนของปลาโบราณและปลาฉลามในมหาสมุทรยังคงที่ แต่จำนวนปลาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังอุกกาบาตชนโลกแล้ว กล่าวคือซากฟอสซิลของปลาโบราณที่พบในช่วงหลังจากนั้น มากกว่าซากฟอสซิลของปลาฉลามเกิน 2 เท่า
รายงานชี้ว่าการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ได้ทำให้สัตว์หลายพันธุ์ทั้งที่อยู่ส่วนบนและส่วนล่างของห่วงโซ่อาหาร ล้มตายไปจำนวนมาก และยังทำให้ปลาโบราณที่มีครีบคล้า่ยปลากระเบน ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนขึ้นมาครองมหาสมุทรแทน และเป็นบรรพบุรุษของปลาเกือบทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นสิื่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
นักวิจัย Elizabeth Sibert เผยว่าขั้นต่อไปคือการศึกษาซากฟอสซิลของปลาโบราณอีกครั้ง ว่าสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลานั้นได้อย่างไร จึงทำให้อยู่รอดได้เป็นเวลานานหลายล้านปี ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องการปรับตัวภายใต้ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าว Rasanne Skirble รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง