ทีมนักวิจัยพบว่าบรรพบุรุษของมนุษย์รู้จักใช้พืชเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคก่อนหน้ากำเนิดของการเกษตรกรรม
สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน สุขภาพปากและฟันกลายเป็นเรื่องสำคัญ หมอฟันมักจะเตือนเสมอถึงปัญหาของคราบหินปูนบนฟันซึ่งต้องกำจัดด้วยการขูดออกหรือต้องใช้อุปกรณ์ทันตกรรมทันสมัยในการขูดคราบหินปูน
อย่างไรก็ตาม คราบหินปูนที่ได้จากฟันมนุษย์ยุคโบราณช่วยให้ทีมนักวิจัยเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีที่แล้วที่เขต Al Khiday บนลุ่มแม่น้ำไวท์ไนล์ห่างจากเมือง Omdurman ไปทางใต้ราว 25 กิโลเมตร
คุณ Karen Hardy หัวหน้าทีมวิจัยและสมาชิกทีมงานวิจัยเดินทางไปที่จุดค้นพบฟันมนุษย์โบราณเพื่อวิเคราะห์คราบหินปูนที่ติดอยู่บนฟันโบราณ
คุณ Hardy กล่าวว่าทีมวิจัยได้รับการติดต่อจากทีมนักโบราณคดีที่ขุดค้นในซูดานตอนกลาง ทีมงานสนใจมากที่จะทำงานในจุดดังกล่าวเพราะเป็นจุดที่มีการทับถมตัวที่ยาวนานและเป็นจุดอากาศค่อนข้างร้อน ทีมวิจัยประหลาดใจมากที่ค้นพบว่าคราบหินปูนที่บนบนฟันโบราณสามารถคงทนสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้อย่างดี
คุณ Hardy เป็นศาสตราจารย์ด้านการวิจัยที่ Catalan Institute for Research and Advanced Studies ที่มหาวิทยาลัย Autonomous University of Barcelona เธอกล่าวว่าทีมงานไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าจะค้นพบอะไรแต่หวังว่าจะสามารถค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับอาหารของคนยุคโบราณโดยเฉพาะการใช้พืชในอาหารก่อนหน้าที่มนุษย์จะเริ่มทำการเพาะปลูก ศาสตราจารย์ Hardy กล่าวว่าหลักฐานที่ว่านี้หายากมาก
แต่ทีมนักวิจัยทำสำเร็จ พวกเขาค้นพบหลักฐานที่ว่านี้ในคราบหินปูนบนฟันโบราณที่ขุดพบ หลักฐานที่ได้ชี้ว่ามนุษย์โบราณในเขต Al Khiday รู้จักการใช้พืชเป็นอาหารและยารักษาโรคหลายพันปีก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการเพาะปลูกในช่วง 4,500 ปีก่อนคริสตกาลเสียอีก
ศาสตราจารย์ Hardy กล่าวว่าทีมวิจัยพบหลักฐานการใช้พืชในคราบหินปูน ทีมงานสามารถมองเห็นหลักฐานทางกายภาพในรูปของไมโครฟอสซิ่ลบนแผ่นสไลด์ไมโครสโคป ทีมงานยังพบส่วนประกอบทางเคมีที่ชี้ว่ามาจากพืชที่เรียกว่าหญ้าแห้วหมูหรือ purple nut sedge ที่คนอียิปต์โบราณใช้เป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในน้ำหอม ใช้กรองน้ำให้สะอาด เป็นหญ้าสมุนไพรใช้รักษาโรคตามที่มีการบันทึกเอาไว้โดยคนกรีกโบราณและคนอียิปต์โบราณ
เชื่อกันว่าหญ้าสมุนไพรชนิดนี้ช่วยควบคุมเชื้อแบคทีเรียในปากที่เป็นสาเหตุของฟันผุ แต่มาในปัจจุบันคนมองหญ้าแห้วหมูว่าเป็นวัชพืชที่ขึ้นในประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน เป็นวัชพืชที่โตเร็วและแพร่ลามอย่างรวดเร็ว กำจัดยากทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ตาม การค้นพบว่ามนุษย์ยุคโบราณในซูดานตอนกลางนิยมใช้หญ้าแห้วหมูอย่างกว้างขวาง ช่วยให้คนเราเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคโบราณที่เคยอาศัยในบริเวณนี้ได้ดีขึ้น
ศาสตราจารย์ Hardy กล่าวว่าข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามนุษย์ยุคโบราณที่อาศัยในบริเวณนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ดี เข้าใจสภาพแวดล้อมและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เชื่อว่าคนเราในปัจจุบันอาจจะประเมินความสามารถของมนุษย์โบราณในเขตนี้ต่ำเกินไป
นอกจากนี้ การค้นพบว่ามนุษย์ยุคโบราณในตอนกลางของซูดานใช้หญ้าสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของอาหารและยายังช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอาหารของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์และกำจัดความเข้าใจผิดหลายๆ อย่างเกี่ยวกับคนในยุคนั้นลงเนื่องจากเชื่อกันมาตลอดว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์กินแต่เนื้อเป็นอาหาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเท่าที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าคนยุคโบราณบริโภคพืชเป็นอาหารและยามาก่อน