รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ เริ่มต้นภารกิจในต่างประเทศครั้งแรกในการเยือนชาติพันธมิตรในตะวันออกกลาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจากซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และปิดท้ายที่จอร์แดน
ซึ่งนายพอมเพโอ แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจอร์แดน Ayman Safadi ที่กรุงอัมมาน ว่า การสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ชาติกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ ยังบอกด้วยว่า สหรัฐฯเปิดกว้างกับแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด นั่นคือ ร่างมติให้คงนโยบาย 2 State Solution หรือการที่ให้ปาเลสไตน์และอิสราเอลได้รับการยอมรับเป็นรัฐ รวมทั้งให้เมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศ
การเยือนอิสราเอลครั้งแรกของนายพอมเพโอ มีขึ้นเพียง 1 เดือนหลังจากเหตุประท้วงในฉนวนกาซา ที่กลายเป็นเหตุนองเลือด หลังกองทัพอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ราว 40 คน
รัฐบาลอิสราเอลอ้างว่าเป็นการสังหารผู้ก่อการและเพื่อปกป้องพรมแดนเท่านั้น แต่ฝั่งปาเลสไตน์อ้างว่าอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งในประเด็นนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า สหรัฐฯมองว่าอิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเอง ซึ่งสหรัฐฯ สนับสนุนการกระทำด้วยเหตุผลดังกล่าว
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ ในภารกิจนี้ คือการเคลื่อนไหวเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ที่เป็นประเด็นร้อนมาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนายพอมเพโอ ยืนยันว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกอย่างชัดเจนแล้วว่าข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีจุดบกพร่องมากมาย ซึ่งหากข้อตกลงไม่ได้รับการแก้ไข สหรัฐฯก็พร้อมที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้
โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงของตะวันออกกลาง โดยเมื่อ 3 ปีก่อน อิหร่านได้ทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจ อันได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี และสหรัฐฯ ในการจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน
แต่ล่าสุด ฝั่งสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะออกจากข้อตกลงนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข และจะหันไปใช้การเผชิญหน้ามากขึ้น พร้อมกำหนดเส้นตายให้ยุโรปเร่งแก้ไขรายละเอียดใหม่ภายในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้