องค์การสำรวจอวกาศแห่งยุโรป ร่วมมือกับโครงการอาหารเเละการเกษตรเเห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ วางแผนที่จะใช้ดาวเทียมในการตรวจวัดความชื้นในดินและการเติบโตของพืชคลุมดิน เพราะตั๊กเเตนทะเลทรายจะเพิ่มจำนวนมหาศาลหลังจากเกิดความเเห้งเเล้ง ซึ่งตามมาด้วยสภาวะฝนตกชุกเเละพืชคลุมหน้าดินเติบโตอย่างรวดเร็ว
คีธ เครสเเมน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเตือนการระบาดของตั๊กแตนล่วงหน้าแห่งเอฟเอโอ กล่าวว่า ดาวเทียมจะช่วยพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะมีการระบาดของฝูงตั๊กเเตนทะเลทรายเมื่อใด ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้นได้
เขากล่าวว่า ขณะนี้เอฟเอโอสามารถเตือนล่วงหน้าได้หนึ่งเดือนว่าจะมีการระบาดของตั๊กแตน แต่ปกติเเล้วจะเตือนได้ล่วงหน้าสองสัปดาห์ แต่ระบบใหม่จะช่วยให้เตือนได้ล่วงหน้าถึงสองเดือน
เจ้าหน้าที่เอฟเอโอ กล่าวว่า ประเทศต่างๆ จะมีเวลามากขึ้นในการเตรียมตัวให้พร้อม เการเตรียมตัวให้พร้อมนี้หมายถึงการส่งทีมงานที่จำเป็นเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการสำรวจว่าจุดใดบ้างที่เลี่ยงต่อการระบาดของตั๊กแตน ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมได้อย่างทันการ
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า การพยากรณ์และมาตรการควบคุมการระบาดของตั๊กแตนล่วงหน้า จะช่วยลดระดับความรุนแรงของปัญหาลง
ระหว่างปี ค.ศ. 2003-2005 ฝูงตั๊กเเตนได้ทำลายธัญพืชในเเอฟริกาตะวันตกและ 90 เปอร์เซ็นต์ของพืชตระกูลถั่วและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย ทำให้คน 8 ล้านคนเสี่ยงต่อความอดอยาก ทางเอฟเอโอชี้ว่าการระบาดครั้งนั้นต้องใช้ยาฆ่าแมลง 13 ล้านลิตร มูลค่า 600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อควบคุมการระบาด
เอฟเอโอเปิดเผยว่า พื้นที่ระบาดหนึ่งตารางกิโลเมตรมีจำนวนตั๊กเเตนถึง 40 ล้านตัว สามารถกัดกินพืชผลทางการเกษตรภายในวันเดียวได้ในปริมาณที่ใช้เลี้ยงคนได้ 35,000 ต่อวัน
เครสแมนเเห่งเอฟเอโอ กล่าวว่า การระบาดของฝูงตั๊กแตนไม่ได้เกิดขึ้นภายในช่วงข้ามคืน แต่เริ่มต้นด้วยการระบาดขนาดย่อมก่อนในบางพื้นที่ของบางประเทศ หากไม่มีการตรวจพบการระบาดล่วงหน้าหรือเริ่มงานควบคุมล่าช้า มีฝนตกเพียงพอเเละสภาพเเวดล้อมเหมาะเเก่การระบาด ปัญหาก็จะยืดเยื้อออกไปกว่าเดิม ขยายวงออกไประบาดในประเทศอื่นๆ ตามมา
และหากยังไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับสภาพเเวดล้อมส่งเสริม การระบาดอาจจะขยายวงกว้างออกไปในระดับทวีป
เครสเเมนกล่าวว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ได้จากโครงการความร่วมมือของเอฟเอโอกับองค์การสำรวจอวกาศเเห่งยุโรปนี้ จะเเสดงพื้นที่ต่างๆ ที่ดินมีความชื้นเหมาะเเก่การเเพร่พันธุ์และการวางไข่ของตั๊กเเตนทะเลทราย ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงที่ตั๊กแตนจะเพิ่มจำนวนเเละมีโอกาสเติบโต พัฒนาจากระยะโดดเดี่ยวไปเป็นระยะเข้าสังคม เริ่มอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และสามารถทำลายพืชผลทางการเกษตรบริเวณกว้างได้อย่างรวดเร็ว
เครสแมน เจ้าหน้าที่แห่งเอฟเอโอ กล่าวว่า ตั๊กเเตนทะเลทรายปรับตัวได้ดีกับภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นช่วยให้ตั๊กเเตนโตเต็มวัยเร็วขึ้น และมีเวลามากขึ้นในการขยายพันธุ์ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังทำให้ฝนตกมากขึ้นเเละตกหนักขึ้นในพื้นที่ทะเลทราย ช่วยสร้างสภาพเเวดล้อมที่เหมาะแก่การเเพร่พันธุ์ของตั๊กเเตน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมีต่อทิศทางลมอย่างไร ตั๊กเเตนทะเลทรายเดินทางไปตามทิศทางลม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางทิศทางลมจะทำให้ตั๊กเเตนทะเลทรายบินไปยังพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานปิดท้ายว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็มจนกว่าจะระบบดาวเทียมเตือนการระบาดของตั๊กเเตนทะเลทรายล่วงหน้านี้จะดำเนินการได้อย่างเต็มตัว
(รายงานโดย Joe De Capua / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายเเก้ว)