เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ออกมากล่าวปฏิเสธความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ ในการลาดตระเวณทะเลจีนใต้ และในการต่อต้านกบฏชาวมุสลิมในประเทศ
ประธานาธิบดี Duterte ของฟิลิปปินส์กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่ปล่อยให้มหาอำนาจต่างประเทศเข้าช่วยลาดตระเวณในบริเวณน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับจีน
หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ออกมาเรียกร้องให้ที่ปรึกษาทหารของสหรัฐฯ ออกไปจากเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะที่ทางการฟิลิปปินส์กำลังต่อสู้กับกบฎชาวมุสลิมอยู่
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ นาย Perfecto Yasay กล่าวในเวลาต่อมาว่า ประธานาธิบดี Duterte จะไม่ถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางการทหารกับสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ในกรุงมะนิลา นครหลวงของฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ด่วนพูดในทั้งสองเรื่องก่อนถึงเวลาอันควร
Jay Batongbacal ผู้อำนวยการสถาบันกิจการทางทะเลและกฎหมายทะเลที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ บอกว่า ประธานาธิบดี Duterte เป็นคนพูดตรง และอาจจะแสดงความรู้สึกและท่าทีส่วนตัวมากเกินไป
โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ ปฏิเสธทางอีเมลที่จะให้ความเห็นในเรื่องคำพูดของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แต่อธิบายภาระหน้าที่ของที่ปรึกษาทหารสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ว่า ทำงานช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในฟิลิปปินส์สืบสวนการลักพาตัว ดำเนินการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ และจัดระบบการสืบสวนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต
กำลังทหารสหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในการต่อสู้กับกบฏบนเกาะมินดาเนามาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งรวมทั้งกลุ่ม Abu Sayyaf ด้วย
แต่คาดกันว่า ปัญหาที่ประธานาธิบดี Duterte มีกับสหรัฐฯ นั้น อาจสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เมือง Davao ซึ่งประธานาธิบดี Duterte เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอยู่ถึง 22 ปี ก่อนจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สื่อท้องถิ่นที่นั่นรายงานว่า เมื่อปี ค.ศ. 2002 มีคนอเมริกันคนหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มกบฎในมินดาเนา ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดในเมือง Davao และทหารสหรัฐฯ ได้รีบพาตัวบุคคลผู้นั้นออกจากฟิลิปปินส์ไปอย่างรวดเร็ว
นาย Ramon Casiple ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์กล่าวว่า นับแต่นั้นมา ประธานาธิบดี Duterte ได้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และคิดว่าทางการ FBI ของสหรัฐฯ เป็นผู้นำตัวคนผู้นี้ออกจากฟิลิปปินส์ไป ซึ่งประธานาธิบดี Duterte สงสัยว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดครั้งนั้น
เมื่อสองปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ทำข้อตกลงส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันประเทศ ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปหมุนเวียนเปลี่ยนผลัด และสร้างหรือใช้สถานที่ทำการทางทหารในฟิลิปปินส์ได้
นักวิเคราะห์คาดเดากันว่า คำปฏิเสธความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในสัปดาห์ที่แล้ว อาจเป็นสัญญาณแสดงความโน้มเอียงเข้าหาจีนก็ได้
(รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดย นิตยา มาพึ่งพงศ์)