เมื่อวันพฤหัสบดี นายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมราน ข่าน ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจากฝ่ายค้านให้เขาลาออก และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าพยายามล้มล้างรัฐบาลของเขา ก่อนที่เขาจะเผชิญการลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันอาทิตย์นี้
สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในสภาล่างของปากีสถานยื่นวาระขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยมุ่งเป้าขับนายข่านออกจากตำแหน่งจากข้อกล่าวหาที่ว่า เขาบริหารเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำปากีสถานวัย 69 ปีผู้นี้ กล่าวผ่านทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันพฤหัสบดีว่า เขาจะไม่ลาออกและจะยืนยันต่อกรกับการแทรกแซงจากต่างชาติ และจะไม่ปล่อยให้ “การสมคบคิด” เอาชนะเขาไปได้
นายกฯ ข่านยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ เป็นเจ้าของ “บันทึก” ที่เขาระบุว่าเป็น “การสมคบคิดจากต่างชาติ” ในขณะที่เขาเดินทางเยือนรัสเซียในวันที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งรุกรานยูเครน
เขากล่าวทางโทรทัศน์ว่า “เราได้รับข้อความจากอเมริกา ไม่สิ ไม่ใช่อเมริกา ผมหมายถึงต่างชาติที่ผมระบุไม่ได้ พวกเขากล่าวว่า พวกเขาโกรธปากีสถาน…พวกเขากล่าวว่าจะยกโทษให้ปากีสถานหากอิมราน ข่าน ถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ แต่หากการลงคะแนนครั้งนี้ล้มเหลว ปากีสถานจะเผชิญกับผลที่ตามมาอย่างหนัก”
สถานีโทรทัศน์ช่องหลักของปากีสถานรายงานว่า ข้อความที่นายกฯ ข่านกล่าวถึง ถูกส่งไปยังทูตของปากีสถานประจำสหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดวาระดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นวาระขอลงคะแนนไม่ไว้วางใจเขา
นายกฯ ข่านกล่าวว่า การที่ต่างชาติรู้ว่าจะมีการยื่นวาระไม่ไว้วางใจก่อนที่เรื่องจะเข้าสภาอย่างเป็นทางการ หมายความว่าฝ่ายค้านติดต่อกับบุคคลภายนอกปากีสถานโดยตลอด โดยเขากล่าวว่า ท่าทีจากต่างชาติครั้งนี้มีเพื่อลงโทษที่เขาดำเนินนโยบายต่างประเทศของปากีสถานอย่างเป็นอิสระ
“ไม่เป็นความจริง”
ทั้งผู้นำฝ่ายค้านของปากีสถานและสหรัฐฯ ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายกฯ ข่าน โดยเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูล โดยสหรัฐฯ เคารพและสนับสนุนกระบวนการทางรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมในปากีสถาน
ผู้นำปากีสถานกล่าวผ่านทางโทรทัศน์หลังเป็นประธานการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกระดับสูงจากทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เพื่อหารือถึง “บันทึกที่เป็นภัยคุกคาม” ฉบับดังกล่าว
สำนักนายกรัฐมนตรีปากีสถานออกแถลงการณ์หลังการประชุม โดยระบุว่า ทางคณะกรรมการกังวลเป็นอย่างมากถึงการสื่อสารและภาษาที่ใช้โดย “เจ้าหน้าที่ต่างชาติ” ว่า ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมการทูต บันทึกดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงกิจการภายในของปากีสถานโดยประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ปากีสถานจะยื่นหนังสือประท้วงประเทศดังกล่าว ทั้งในกรุงอิสลามาบัด และในเมืองหลวงของประเทศนั้น ผ่านช่องทางทางการทูตที่เหมาะสม
ไมเคิล คูเกลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียใต้ประจำศูนย์ Wilson Center ในกรุงวอชิงตัน ทวีตข้อความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และปากีสถานจะได้รับผลกระทบจากการแลกเปลี่ยนวาทะและการกล่าวหาผ่านสื่อในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ซึ่งความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก็ถือว่าเปราะบางอยู่แล้ว