คณะกรรมการตรวจสอบกึ่งอิสระของบริษัทเมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) แนะนำให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (Instagram) ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน เป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากใช้ภาษาที่อาจปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง
โอเวอร์ไซต์ บอร์ด (Oversight Board) มีรายงานเสนอแนะซึ่งไม่มีผลผูกพันจำนวน 26 หน้า ออกมาในวันพฤหัสบดี ซึ่งนอกจากจะแนะให้ปิดบัญชีของฮุน เซน แล้ว ยังกลับคำอนุญาตของเฟซบุ๊กเองที่ยินยอมให้วิดีโอคำปราศรัยของฮุน เซน เมื่อเดือนมกราคม สามารถเผยแพร่บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กได้ ซึ่งการลบวิดีโอชิ้นนั้นมีผลผูกพันทันที
ในวิดีโอดังกล่าว นายกฯ กัมพูชา กล่าวผ่านวิดีโอไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก โจมตีนักการเมืองฝ่ายค้านผู้ที่กล่าวหาว่าพรรครัฐบาลขโมยคะแนนเสียงของประชาชน โดยฮุน เซน กล่าวว่า "มีทางเลือกเพียงสองทาง หนึ่งคือการใช้วิธีทางกฎหมาย และสองคือการใช้ไม้เรียว" และว่า "จะต้องมีการดำเนินคดีในศาล หรือไม่เช่นนั้นบรรดาผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลก็จะพากันเดินขบวนและทำร้ายคุณ"
โอเวอร์ไซต์ บอร์ด กล่าวว่า การตัดสินใจเสนอให้ระงับบัญชีเฟซบุ๊กของผู้นำกัมพูชา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก "ประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามคู่แข่งทางการเมือง ตลอดจนยุทธวิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อขยายการคุกคามดังกล่าว"
ทางด้านเฟซบุ๊กมีแถลงการณ์ตอบรับการตัดสินใจของคณะกรรมการดังกล่าว โดยยืนยันว่าจะปฏิบัติตามด้วยการลบเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดกฎข้อบังคับของเฟซบุ๊ก และจะทบทวนคำแนะนำของบอร์ดซึ่งรวมถึงการปิดบัญชีของฮุน เซน
ทางเฟซบุ๊กเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลา 60 วันก่อนทำการตัดสินใจ
ก่อนหน้านี้ ผู้ดูแลเนื้อหาของเฟซบุ๊กทั้งสองระดับมิได้ดำเนินการใด ๆ ต่อวิดีโอสดของฮุน เซน โดยในเบื้องตันให้เหตุผลว่า เนื้อหาที่ฮุน เซน เผยแพร่ออกมามิได้ละเมิดมาตรฐานการใช้งานของเมตาว่าด้วยความรุนแรงและการปลุกระดม
ขณะที่ผู้ดูแลเนื้อหาระดับสูงกว่า ระบุว่า แม้คำกล่าวของผู้นำกัมพูชามีลักษณะยั่วยุจริง แต่ในฐานะที่ฮุน เซน เป็นผู้นำประเทศ คำกล่าวของเขาจึงถือเป็นข่าว และไม่ถือว่าผิดข้อบังคับของเฟซบุ๊กแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา ฮุน เซน คือผู้นำที่นิยมการใช้เฟซบุ๊กเป็นชีวิตจิตใจ แต่หนึ่งวันก่อนหน้านี้ ฮุน เซน กล่าวว่าตนมิได้อัพโหลดเนื้อหาทางเฟซบุ๊กอีกแล้ว แต่จะใช้สื่อเทเลแกรม (Telegram) ในการเผยแพร่ข้อความที่ตนอยากสื่อไปถึงประชาชนแทน
ผู้นำกัมพูชาที่ครองตำแหน่งยาวนานถึง 38 ปี เผยด้วยว่า สาเหตุที่ตนเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เพราะเทเลแกรมมีประสิทธิภาพมากกว่าและง่ายต่อการสื่อสารมากกว่าเมื่อตนต้องเดินทางไปในประเทศที่เฟซบุ๊กถูกแบน เช่น จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch) มีแถลงการณ์ทางอีเมล์ว่า "ในที่สุด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ก็ถูกเล่นงานจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม และดูเหมือนตัวเขาเองก็ไม่พอใจนัก"
อย่างไรก็ตาม สก อีสาน โฆษกของพรรคประชาชนกัมพูชา ที่มีฮุน เซน เป็นหัวหน้าพรรค กล่าวว่า "ฮุน เซน เผชิญการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เพราะสื่อต่างชาติที่รายงานข่าวโจมตีผู้นำกัมพูชาและครอบครัว รวมทั้งเสนอข่าวผิด ๆ ยังคงนำเสนอข่าวได้ต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ขณะที่ฮุน เซน กลับต้องถูกระงับบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง"
ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์แสดงความกังวลเรื่องที่ผู้นำทางการเมืองในหลายประเทศมักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ตัวอย่างเช่นในกรณีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกระงับบัญชีเฟซบุ๊กเมื่อไม่กี่ปีก่อนเนื่องจากความกังวลดังกล่าว
- ที่มา: เอพี