ซาอุดิอาระเบียและประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงที่จะยกระดับการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันจากรัสเซียที่หายไป และช่วยกดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอยู่ ก่อนที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูดคาดหมายว่าจะเดินทางเยือนกรุงริยาดในเร็ว ๆ นี้
สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ซึ่งกล่าวว่า แผนการเยือนดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป แต่อาจมีขึ้นหลังจากกระประชุมกลุ่มจี 7 ที่เยอรมนี และการประชุมกลุ่มสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ในสเปน นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปที่อิสราเอลและหารือกับนากยกรัฐมนตรีอิสราเอล นาฟทาลี เบนเน็ต
ในวันพฤหัสบดี กลุ่มโอเปกพลัสเปิดเผยว่า ทางกลุ่มตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของตนขึ้นอีก 684,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 0.7% ของความต้องการจากทั่วโลก และเป็นการปรับขึ้นจากแผนดั้งเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นจำนวน 432,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
รอยเตอร์ชี้ว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเหมือนสัญญาณของความเต็มใจจากซาอุดิอาระเบียและประเทศสมาชิกโอเปกอื่น ๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเสียที หลังจากประเทศในตะวันตกส่งแรงกดดันมาหลายเดือนให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานเหล่านี้ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันที่รุนแรงขึ้นจากการดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซีย
หลังมีรายงานการตัดสินใจนี้ออกมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นมาถึงระดับ 117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที ขณะที่ นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่กระบวนการผลิตปรับขึ้นจริงก็จะไม่ได้มีนัยสำคัญนัก เพราะสมาชิกโอเปกส่วนใหญ่ ยกเว้น ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เดินหน้ายกระดับการผลิตไปแล้ว
ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันที่ผลิตโดยสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งรวมถึง รัสเซียด้วย หดหายไปถึงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังนานาประเทศดำเนินมาตรการลงโทษต่อมอสโกที่ส่งกองทัพรุกรานยูเครน
ในส่วนของแผนการเยือนริยาดครั้งแรกของปธน.ไบเดนนั้น ทีมงานเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯ ได้ทำการเตรียมงานมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว หลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย อยู่ในภาวะตึงเครียดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการที่ทั้งสองประเทศเห็นต่างในประเด็นสิทธิมนุษยชน สงครามในเยเมน และการที่สหรัฐฯ ส่งอาวุธให้กับรัฐบาลกรุงซานา
นอกจากนั้น หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ยังกล่าวหาเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด หรือ MbS ว่า เป็นผู้อนุมัติการสังหาร จามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวซาอุฯ ซึ่งเป็นข้อหาที่มกุฎราชกุมารองค์นี้ปฏิเสธ
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างรู้สึกคับข้องใจต่อการที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารในเยเมน และการที่กรุงวอชิงตันไม่สนใจความกังวลของประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธของอิหร่านด้วย
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของโอเปกพลัส และยอมรับว่า ซาอุดิอาระเบียมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้สมาชิกกลุ่มยอมตกลงเพิ่มการผลิต
-
ที่มา: รอยเตอร์