การศึกษาวิจัยครั้งใหม่ชี้ว่าโรคอ้วนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
การศึกษาที่เมืองมานากัว ประเทศนิการากัว แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเวลานานกว่าคนที่ไม่เป็นโรคอ้วนอย่างเห็นได้ชัด
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคนที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975
Aubree Gordon นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว คุณ Gordon อธิบายว่า ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด เมื่อปี ค.ศ. 2009 ค่อนข้างชี้ชัดว่าคนอ้วนมีความเสี่ยงสูงกว่า ต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง และเมื่อเร็ว ๆ นี้การศึกษาบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าคนอ้วนไม่ตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ดีเท่าที่ควรอีกด้วย
คุณ Gordon ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศนิการากัว ในโครงการศึกษาวิจัยซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี โดยติดตามดูผู้ร่วมการวิจัยจำนวน 1,783 คนใน 320 ครัวเรือน นักวิจัยไปเยี่ยมบ้านที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งรายที่มีรายงานของอาการไข้หวัดใหญ่ จากนั้นนักวิจัยจะเก็บตัวอย่างทุก 2-3 วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และติดตามดูผู้ที่ติดเชื้อและคนอื่นๆ ในบ้านที่ตกลงเข้าร่วมการศึกษาวิจัยนี้
เมื่อคุณ Gordon และเพื่อนร่วมงานของเธอวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อที่เก็บมา พบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนจะแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ยาวนานกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นโรคอ้วนถึง 42 เปอร์เซ็นต์ หรือแพร่เชื้อนานกว่าประมาณหนึ่งวันครึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยครั้งก่อนหน้านี้ที่พบว่า การเป็นโรคอ้วนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และระบบภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพ
การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Infectious Diseases
คุณ Gordon กล่าวส่งท้ายกับ VOA ว่า "การเป็นโรคอ้วนแพร่ระบาดมากขึ้น ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก”