ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ค้นพบแนวทางที่อาจนำไปสู่วิธีการป้องกันโรคอ้วนอย่างตรงจุดมากขึ้น หลังจากพบว่า ภาวะโรคอ้วนจะทำให้สูญเสียต่อมรับรสไปเกือบ 1 ใน 4 ที่ร่างกายควรผลิตได้เลยทีเดียว
คำกล่าวที่ว่า คนอ้วนเพราะกินอาหารอร่อยอาจไม่จริงเสมอไป เมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาคอร์แนล เผยการค้นพบที่ไขข้อข้องใจที่ว่า ทำไมยิ่งอ้วนยิ่งกินจุขึ้น จากการทดสอบการให้อาหารที่มีไขมันสูงในหนูทดลอง และพบว่า หนูที่มีภาวะโรคอ้วน จะสูญเสียต่อมรับรสไปเกือบร้อยละ 25 และส่งผลให้พวกมันต้องกินอาหารมากขึ้นไปอีก
Robin Dando ผู้ช่วยอาจารย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้อธิบายว่า ผลการทดลองกับหนูแสดงให้เห็นว่า ภาวะโรคอ้วนจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะอักเสบ หรือ inflammation ซึ่งมีผลต่อการสร้างต่อมรับรส
ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้อาจช่วยหาสาเหตุที่มนุษย์มีภาวะโรคอ้วน รวมทั้งอาจเป็นแนวทางในการป้องกันภาวะโรคอ้วนผ่านการสังเกตความผิดปกติของต่อมรับรสได้อีกทางหนึ่ง
ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการวิจัย ระบุว่า ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจะมีต่อมรับรสอ่อนแอกว่าผู้ที่ร่างกายปกติ และผลการวิจัยล่าสุดนี้ได้ช่วยยืนยันว่า การสูญเสียต่อมรับรสเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน และส่งผลให้พวกเขารับประทานอาหารในปริมาณที่มากขึ้น หรือรับประทานอาหารที่รสจัดหรือเข้มข้นขึ้นนั่นเอง
ธรรมชาติของลิ้นมนุษย์ จะเต็มไปด้วยเซลล์ต่อมรับรสมากกว่า 10,000 เซลล์ เพื่อรับรสชาติพื้นฐานของมนุษย์ 5 ชนิด ได้แก่ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และรสชาติที่กระตุ้นความอยากอาหาร หรือ อูมามิ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่เฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อเดือน แต่ในกลุ่มคนที่มีภาวะโรคอ้วน กระบวนการสร้างต่อมรับรสจะถูกทำลายลงไปและทำให้จำนวนต่อมรับรสบนลิ้นลดลงไปด้วย
ซึ่งทำให้ผู้คนในกลุ่มนี้ต้องรับประทานอาหารมากขึ้นเพื่อให้ได้รสสัมผัสที่คุ้นเคย และเป็นวงจรที่ฉุดรั้งให้พวกเขาจมอยู่ในภาวะที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ