ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ซูจี' ปรากฏตัวครั้งแรกหลังรัฐประหาร 1 ก.พ.


FILE - Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi waits for the arrival of her delegation before the Japan Myanmar Summit meeting with Japan's Prime Minster Shinzo Abe (not pictured).
FILE - Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi waits for the arrival of her delegation before the Japan Myanmar Summit meeting with Japan's Prime Minster Shinzo Abe (not pictured).

ออง ซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาที่ถูกกองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ นับตั้งแต่ถูกทหารจับกุมตัวไปพร้อมกับแกนนำรัฐบาลคนอื่น ๆ

นางซูจีปรากฏตัวต่อศาลผ่านทางวิดีโอออนไลน์จากกรุงเนปิดอว์ โดยทนายความของนางซูจี กล่าวว่า อัยการได้สั่งฟ้องเธอในสองข้อหา คือพยายามปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และมีอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาต

ก่อนหน้านี้นางซูจีถูกตั้งข้อหานำเข้าอุปกรณ์สื่อสารแบบวอล์คกี้-ทอล์คกี้ อย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านของเธอและพบอุปกรณ์ดังกล่าว 6 เครื่อง รวมทั้งข้อหาละเมิดกฎหมายรับมือภัยธรรมชาติ ด้วยการจัดการชุมนุมของผู้คนเกินจำนวนที่กำหนดระหว่างที่มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน การประท้วงในหลายเมืองของเมียนมายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หนึ่งวันหลังจากที่มีผู้ประท้วงถูกตำรวจและทหารเมียนมาสังหาร 18 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 30 ราย ในวันที่ถือว่ามีการนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ตามรายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า ภาพที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง นอกจากนี้มีรายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และหัวฉีดน้ำแรงดันสูงกับผู้ชุมนุมในนครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองทวายด้วย

Protesters wearing masks depicting ousted leader Aung San Suu Kyi, flash three-finger salutes as they take part in a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021.
Protesters wearing masks depicting ousted leader Aung San Suu Kyi, flash three-finger salutes as they take part in a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021.

แถลงการณ์ของโฆษกสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ราวีนา ชามดาซานี ระบุว่า ตลอดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตำรวจและทหารเมียนมาได้ปะทะกับประชาชนในหลายเมืองที่ประท้วงอย่างสันติ มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งทางสหประชาชาติขอให้กองทัพเมียนมายุติการกระทำดังกล่าวทันที

ทางด้านนายทอม แอนดรูส์ ผู้เขียนรายงานพิเศษต่อสหประชาชาติ เปิดเผยแถลงการณ์เกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงและประเทศสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำมาใช้เพื่อลงโทษเมียนมา ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา และการลงโทษธุรกิจต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารของเมียนมา รวมทั้งขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเรียกประชุมเพื่อหารือในประเด็นนี้ทันที

ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาจนนำไปสู่การนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์ พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างประชาชนเมียนมา

ขณะที่นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ส่งสัญญาณว่าอาจจะเพิ่มมาตรการลงโทษต่อผู้รับผิดชอบต่อการสังหารประชาชนในครั้งนี้ด้วย

Riot police officers fire teargas canisters during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021. REUTERS/Stringer NO RESALES NO ARCHIVE
Riot police officers fire teargas canisters during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021. REUTERS/Stringer NO RESALES NO ARCHIVE

มีการประท้วงทั่วเมียนมาทุกวันนับตั้งแต่นางซูจีและสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนคนอื่นๆ ถูกกองทัพควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยทางกองทัพเมียนมาอ้างว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลาย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อนำมาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นระเบียบ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด

XS
SM
MD
LG