ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมเพจของกองทัพเมียนมาจึงถูกแบนจากเฟสบุ๊ก?


FILE PHOTO: A cellphone user looks at a Facebook page at a shop in Latha street, Yangon, Myanmar August 8, 2018. REUTERS/Ann Wang/File Photo
FILE PHOTO: A cellphone user looks at a Facebook page at a shop in Latha street, Yangon, Myanmar August 8, 2018. REUTERS/Ann Wang/File Photo

เฟสบุ๊กได้ประกาศในวันพฤหัสบดีว่าเฟสบุ๊กได้นำเอาเพจที่เกี่ยวกับกองทัพเมียนมา และเพจที่ทหารเมียนมาเป็นคนควบคุมดูแลออกจากทั้งเฟสบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งเฟสบุ๊กเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้เฟสบุ๊กยังได้ปิดกั้นโฆษณาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพของเมียนมาอีกด้วย จากรายงานของสำนักข่าว The Associated Press

การตัดสินใจของเฟสบุ๊กเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้นกองทัพได้บล็อกไม่ให้ประชาชนเข้าเฟสบุ๊ก เพื่อไม่ให้ชาวเมียนมาแชร์ข้อความเนื้อหาที่ต่อต้านการยึดอำนาจ หรือใช้เฟสบุ๊กในการนัดแนะชุมนุมประท้วง

สำนักข่าว The Associated Press ได้อธิบายถึงบทบาทของเฟสบุ๊กในเมียนมา และมองถึงผลกระทบของการแบนเฟสบุ๊กเพจของกองทัพพม่าดังต่อไปนี้

Myanmar Social media
Myanmar Social media

บทบาทของเฟสบุ๊กในเมียนมา

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมียนมาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการเชื่อมต่อในประเทศน้อยมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง มีประชากรเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ตในปี พ.ศ.2553 จากการเก็บข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union) เมื่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนเริ่มยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมการโทรคมนาคมใน ปี พ.ศ.2554 ราคาของซิมการ์ดสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ เปิดโอกาสให้คนได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มากขึ้น

เฟสบุ๊กจึงได้ฉวยโอกาสนี้ เข้ามาทำตลาดในประเทศ ทำให้มีการใช้เฟสบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐบาลไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้า

ข้อมูลในเดือนมกราคมของปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ใช้เฟสบุ๊กในเมียนมา 22.3 ล้านคน หรือประมาณกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากการสำรวจของ NapoleanCat ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย สำหรับคนเมียนมาหลายคน เฟสบุ๊กก็คืออินเตอร์เน็ต

ด้านนายนิคกี ไดมอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม Fortify Rights ในเมียนมา กล่าวว่า เฟสบุ๊กมีบทบาทสำคัญมากในประเทศ และเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้คนในประเทศ

This photo taken on December 18, 2018 shows a Myanmar man logging into his Facebook account at a teashop in Yangon. - Facebook has removed hundreds of additional pages and accounts in Myanmar with hidden links to the military, the platform said on Decembe
This photo taken on December 18, 2018 shows a Myanmar man logging into his Facebook account at a teashop in Yangon. - Facebook has removed hundreds of additional pages and accounts in Myanmar with hidden links to the military, the platform said on Decembe

ที่ผ่านมาเฟสบุ๊กมีปัญหาอะไรบ้างในเมียนมา

โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊กต้องเจอกับข้อกล่าวหาว่าเฟสบุ๊กไม่ทำอะไรมากพอที่จะหยุดยั้งการใช้วาจาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลี่ยดชังในประเทศ

หัวหน้าคณะทำงานค้นหาความจริงในเมียนมาของสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ในรายงานเมื่อสามปีก่อน ถึงการใช้ความรุนแรงของกองทัพเพื่อขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนให้หนีไปบังคลาเทศ โดยระบุว่าเฟสบุ๊ก “มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้น” และยังบอกด้วยว่า การใช้วาจาเพื่อสร้างความเกลียดชังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเฟสบุ๊ก

เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากสหประชาชาติและกลุ่มส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เฟสบุ๊กจึงได้แบนเพจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง เฟสบุ๊กของนายพล มิน ออง ล่าย โทษฐานที่เกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง

Myanmar soldiers stand guard
Myanmar soldiers stand guard

ทำไมเฟสบุ๊กจึงห้ามไม่ให้มีเพจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาในเวลานี้

หลังจากการปฏิวัติ เฟสบุ๊กได้บอกว่าจะลดการเผยแพร่เนื้อหาจากกองทัพเมียนในเฟสบุ๊ก และจะลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎข้อบังคับของเฟสบุ๊ก เช่น ถ้อยคำวาจาท่ีก่อให้เกิดความเกลียดชัง

ก่อนที่ในวันพฤหัสบดี เฟสบุ๊กจะประกาศว่าจะห้ามไม่ให้มีเพจขององค์กร หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาบนเฟสบุ๊กและอินสตาแกรม เช่นเดียวกับโฆษณาที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวพันกับกองทัพ

เฟสบุ๊กกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เหตุการณ์ตั้งแต่วันรัฐประหารที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมทั้งการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทำให้เฟสบุ๊กต้องออกกฎห้ามเพจเหล่านั้น เพราะเชื่อว่าความเสี่ยงจากการปล่อยให้กองทัพอยู่บนเฟสบุ๊กและอินสตาแกรมมีอยู่มาก”

การแบนของเฟสบุ๊กครั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการชายแดน ผู้จัดการการสื่อสารนโยบายของเฟสบุ๊ก เอมี สาวิตตา เลอเฟอร์ฟ กล่าว

Myanmar anti-coup demonstators
Myanmar anti-coup demonstators

การแบนครั้งนี้จะมีผลอะไร

การที่ไม่สามารถมีเพจอยู่บนเฟสบุ๊กจะทำให้กองทัพของเมียนมาขาดพื้นที่การสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

นายมาร์ค ฟาร์มาเนอร์ ผู้อำนวยการขององค์กร Burma Campaign UK กล่าวในแถลงการณ์ว่า การแบนเฟสบุ๊กส่งผลทางจิตวิทยาต่อกองทัพ เพราะกองทัพเมียนมาได้ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการใช้เฟสบุ๊กเพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเชื้อชวนให้มีคนมาเกณฑ์ทหาร และเพื่อระดมทุน

เฟสบุ๊กกล่าวว่าบริษัทคาดว่ากองทัพเมียนมาจะหาทางกลับมาใช้เฟสบุ๊กอีกครั้ง ซึ่งบริษัทเองจะพยายามสอดส่องเพื่อบังคับใช้กฎนี้ต่อไปในอนาคต

เฟสบุ๊กปฏิเสธที่จะบอกว่าบริษัทต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่จากการห้ามไม่ให้มีโฆษณาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาในครั้งนี้

XS
SM
MD
LG