กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมายิงใส่ผู้ประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สังหารประชาชนอย่างน้อย 18 คน บาดเจ็บมากกว่า 30 คน ในเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
การปราบปรามผู้ประท้วงรุนแรงขึ้นในวันอาทิตย์ เมื่อมีรายงานว่าตำรวจและทหารเมียนมาใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วง
สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า ภาพที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง นอกจากนี้มีรายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และหัวฉีดน้ำแรงดดันสูงกับผู้ชุมนุมในนครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองทวายด้วย
แถลงการณ์ของโฆษกสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ราวีนา ชามดาซานี ระบุว่า ตลอดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตำรวจและทหารเมียนมาได้ปะทะกับประชาชนในหลายเมืองที่ประท้วงอย่างสันติ มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งทางสหประชาชาติขอให้กองทัพเมียนมายุติการกระทำดังกล่าวทันที
ด้านทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นคนใหม่ ลินดา-ธอมัส กรีนฟีลด์ (Linda Thomas-Greenfield) ทวีตข้อความว่า "สหรัฐฯ ขอยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาที่ออกมาแสดงพลังและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเพื่อต่อต้านรัฐประหาร และเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ประชาธิปไตยและระบอบกฎหมาย กลับคืนมา"
วิกฤติการเมืองในเมียนมาตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อ จอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เรียกร้องให้นานาชาติไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารในเมียนมา และใช้ “วิธีที่จำเป็นใดๆ ก็ตาม” เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมา และคุ้มครองความปลอดภัยและความมั่นคงต่อชาวเมียนมา
และในวันเสาร์ สื่อโทรทัศน์ของทางการเมียนมารายงานว่า จอ โม ตุน ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้ว โดยอ้างว่าเขา "ทรยศต่อประเทศ"
ทั้งนี้ จอ โม ตุน กล่าวในฐานะคณะกรรมการตัวแทนสมัชชาแห่งสหภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ พรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย ผู้ถูกกองทัพโค่นอำนาจ
ทูตเมียนมากล่าวว่า เขาเป็นตัวแทนของพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็น “รัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมและเหมาะสม” และไม่ได้เป็นตัวแทนของกองทัพที่ยึดอำนาจ โดยเขาระบุว่า การก่อรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ “ไม่สามารถยอมรับได้ในโลกสมัยใหม่นี้”
เขากล่าวหากองทัพเมียนมาว่า กองทัพกดขี่ประชาชนเป็นเวลาหลายสิบปี โดยใช้ “วิธีการรุนแรงที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้” โจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย และ “การกระทำเหล่านี้เป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย”
จอ โม ตุน กล่าวว่า กองทัพเมียนมายังคงใช้ความรุนแรงต่อไป โดย “โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยิงและสังหารผู้ประท้วงโดยสันติตามท้องถนน ก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนโจมตีรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจับกุมสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ออกหมายจับโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของชาวเมียนมา”
ทูตเมียนมาขอให้นานาชาติเดินหน้ากดดันรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไป และไม่ยอมรับหรือร่วมมือกับทางกองทัพ รวมทั้งสนับสนุนสมาชิกรัฐสภาเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
มีการประท้วงทั่วเมียนมาทุกวันนับตั้งแต่นางซูจีและสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนคนอื่นๆ ถูกกองทัพควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยทางกองทัพเมียนมาอ้างว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลาย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อนำมาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นระเบียบ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด