แม้กองทัพเมียนมาจะปฏิเสธว่า ไม่ใช้ความรุนแรงในการบุกคนหมู่บ้านต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้รอดชีวิตและพยานหลายรายบอกกับ วีโอเอ ว่า ในปฏิบัติการดังกล่าว ทหารเมียนมาใช้กำลังเชิงยุทธวิธีในการปราบปรามแรงต้านจากชาวบ้านทั้งหลาย โดยมีการเผาบ้านเรือน ทรมาน ข่มขืนและการสังหารหมู่ด้วย
ข้อมูลจากพยานกลุ่มหนึ่งระบุว่า กองทัพทหารเมียนมาเข้าบุกค้นหมู่บ้าน ทาร์ ทาอิง ในเขตสะกาย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 17 ราย โดยทุกคนถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมก่อนจะถูกสังหาร ขณะที่ สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเรียกเหยื่อทุกคนที่ถูกยิงที่หลังศีรษะว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
และหลังจากการบุกค้นหมู่บ้านดังกล่าว ทหารเมียนมาเดินหน้าปฏิบัติการแบบเดียวกันในหมู่บ้านอีกแห่งในรัฐชาน โดยมีพลเรือนเกือบ 30 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอในที่เกิดเหตุที่กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (Karenni Nationalities Defense Force – KNDF) เปิดเผยออกมา และ วีโอเอ ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว แสดงให้เห็นว่า มีการกองศพอย่างน้อย 21 ศพทับกันที่รอบ ๆ วัดในหมู่บ้านดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ดี หลังภาพและคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาอ้างว่า ทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นชาวบ้านที่ถูกนักรบในพื้นที่สังหาร
ข้อมูลจากแหล่งข่าวของเอพีระบุว่า ทหารในเมียนมาบุกเข้าหมู่บ้านหลายแห่ง ทำการข่มขืน ตัดหัว และสังหารผู้คนในเขตสะกาย หลายต่อหลายครั้ง
สื่อ Myanmar Now ที่รายงานข่าวเป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ของตน ชี้ว่า เหตุสังหารหมู่ที่หมู่บ้าน ทาร์ ทาอิง นั้น เป็น “การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง” นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านดังกล่าว แต่มีการโพสต์ข้อความผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตน เช่น เทเลแกรม ที่ระบุว่า การบุกค้นหมู่บ้านนั้น ที่จริงแล้ว คือการต่อสู้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Forces – PDF) ในหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตสะกาย
ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ได้พูดคุยกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตและยืนยันเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ดังที่มีรายงานออก ทั้งยังยืนยันด้วยว่า ชาวบ้านนั้นไม่มีอาวุธและในพื้นที่หมู่บ้านของตนก็ไม่มีสมาชิก PDF อยู่ด้วย
วีโอเอ ยังได้พูดคุยกับ คุน เบดู ประธานกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) ที่ยืนยันเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รัฐชาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลังส่งสมาชิกไปยังบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกภาพและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และในวันที่ 12 มีนาคม วีโอเอ ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ พลเอกจ่อ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร ซึ่งยืนยันว่า เกิดเหตุสังหารหมู่ที่รัฐชาน แต่กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ โดยทหารของกองทัพ ที่รู้จักกันในชื่อ “ทัตมาดอว์” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ขึ้นให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า นับตั้งแต่เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศยืดระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ยกระดับการใช้กำลังของตน ที่รวมถึงการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด การเผาบ้านเรือนของประชาชน และ “ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้”
ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติระบุด้วยว่า รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 47 เขต และยังติดอาวุธให้กับพลเรือนที่สนับสนุนตนด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่งประกาศสั่งลงโทษรอบใหม่ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยพุ่งเป้าไปยังเสบียงคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบินที่นำส่งให้กับกองทัพและพันธมิตรต่าง ๆ เป็นหลัก โดยแถลงการณ์จากกระทรวงการคลังระบุว่า มีบุคคล 2 คนและองค์กร 6 แห่งที่เป็นเป้าการลงโทษครั้งนี้เนื่องจากความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร
- ที่มา: วีโอเอ