ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘มูฮัมหมัด ยูนุส’ สาบานตนรับหน้าที่นำรัฐบาลเฉพาะกาลบังกลาเทศ


มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ลงนามในหนังสือให้สัตยาบัน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกลางของบังกลาเทศ หลังเดินทางถึงกรุงธากาในวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. 2567
มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ลงนามในหนังสือให้สัตยาบัน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกลางของบังกลาเทศ หลังเดินทางถึงกรุงธากาในวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. 2567

มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเดินทางถึงบังกลาเทศในวันพฤหัสบดี และได้เข้าพิธีสาบานตนขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลที่ถูกจัดตั้งขึ้น หลังการลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา ที่เดินทางไปพำนักที่อินเดียแล้ว

ยูนุส ในวัย 84 ปีเดินทางถึงกรุงธากาด้วยเที่ยวบินจากกรุงปารีสในวันพฤหัสบดี โดยได้รับการต้อนรับจาก พลเอกวาเคอร์-อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพ และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนที่มารอรับพร้อมมอบช่อดอกไม้ให้ด้วย

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวบังกลาเทศ กล่าวในระหว่างแถลงข่าวที่สนามบินที่กรุงธากาว่า “วันนี้เป็นวันที่รุ่งโรจน์สำหรับเรา” และว่า “บังกลาเทศได้สร้างวันแห่งชัยชนะใหม่ขึ้นมา บังกลาเทศมีวันประกาศอิสรภาพวันที่ 2 แล้ว”

มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จับมือกับจนท.อาวุโสของกองทัพบังกลาเทศ หลังเดินทางถึงสนามบินกรุงธากาในวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. 2567
มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จับมือกับจนท.อาวุโสของกองทัพบังกลาเทศ หลังเดินทางถึงสนามบินกรุงธากาในวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. 2567

จากนั้น ยูนุสได้เข้าร่วมพิธีให้สัตยาบันขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งมีประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดินทำหน้าที่ดำเนินการในพิธี พร้อมประกาศให้ยูนุสเป็นประธานที่ปรึกษาของตนซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศแต่งตั้งยูนุสหลังเกิดการลุกฮือประท้วงอดีตนายกรัฐมนตรีฮาซีนาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน ก่อนที่อดีตผู้นำรัฐบาลจะยอมลาออก

การประท้วงที่ว่ามีสาเหตุเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจระบบโควต้าการจ้างงานตำแหน่งราชการสำหรับลูกหลานของทหารผ่านศึก ก่อนจะขยายวงมาเป็นการต่อต้านฮาซีนาที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานาน 15 ปี และถูกกล่าวหาว่า ทำการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและทุจริตเลือกตั้งด้วย

พลเอกวาเคอร์-อุซ-ซามาน ระบุในการแถลงข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อวันพุธว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียทั้งหมด

ยูนุส ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 สำหรับผลงานด้านโครงการไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) ที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนผ่านการปล่อยเงินกู้ก้อนเล็ก ได้กล่าวสรรเสริญเหล่านักศึกษาที่มีบทบาทในการประท้วงที่เกิดขึ้นพร้อมขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงการก่อความรุนแรงและการมุ่งเน้นสร้างประเทศขึ้นมาใหม่

ขณะเดียวกันพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh National Party - BNP) ที่เป็นฝ่ายค้าน ออกมาจัดการหาเสียงที่กรุงธากา และมี คาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 78 ปี เป็นผู้นำกิจกรรม หลังได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังนานหลายปีเมื่อวันจันทร์ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนได้ออกมาร่วมงานกันมากมายตั้งแต่ก่อนจะเปิดเวที อันแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ผันแปรอย่างต่อเนื่องอยู่

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากเอเอฟพี เอพีและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG