ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินเดียเฝ้าระวังชายแดน หลังยืนยันนายกฯ บังกลาเทศลี้ภัยมานิวเดลี


จนท.ควบคุมชายแดนบังกลาเทศ เข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโกลกาตา ของอินเดีย ราว 100 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567
จนท.ควบคุมชายแดนบังกลาเทศ เข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโกลกาตา ของอินเดีย ราว 100 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567

อินเดียได้สั่งให้มีการยกระดับการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนที่ติดกับบังกลาเทศ หลังเกิดการโค่นอำนาจรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา ขณะที่ คาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีและคู่แข่งคนสำคัญของฮาซีนาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากการคุมขังภายในบ้านพักของตนเองเป็นเวลาหลายปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย สุพรหมณยัม ชัยศังกระ แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันอังคารด้วยว่า อดีตผู้นำอินเดียที่เพิ่งลี้ภัยออกนอกประเทศได้มาพำนักอยู่ที่กรุงนิวเดลีแล้วตั้งแต่เมื่อเย็นวันจันทร์ หลังได้รับคำขอเดินทางเข้าประเทศจากทั้งตัวเธอและทางการบังกลาเทศเพื่อให้นำเครื่องบินเข้ามาในอินเดีย

ฮาซีนาเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ และการถูกขับออกจากอำนาจอย่างปัจจุบันทันด่วนของเธอก็กลายมาเป็นความท้าทายครั้งใหม่สำหรับกรุงนิวเดลีที่เฝ้าเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกรุงธากามาตลอดเวลา 15 ปีที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำ

รัฐมนตรีชัยศังกระเปิดเผยด้วยว่า อินเดียได้ติดต่อไปยังกองทัพบังกลาเทศที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศหลังฮาซีนาประกาศลาออก พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นอยู่ของชุมชนคนกลุ่มน้อยในบังกลาเทศที่มีรายงานข่าวว่า ถูกบุกโจมตีในหลายแห่ง แม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาก็ตาม

บรรดานักการทูตยุโรปในบังกลาเทศต่างออกมาแสดงความกังวลคล้าย ๆ กันนี้ด้วย เช่น ชาลส์ ไวท์ลีย์ ทูตของสหภาพยุโรปประจำบังกลาเทศที่โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า ผู้นำคณะทูตอียู “มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการโจมตีเข้าใส่ศาสนสถานหลายแห่งและสมาชิกของกลุ่มศาสนา ชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ”

นอกจากนั้น มีรายงานว่า ประธานาธิบดีบังกลาเทศได้สั่งยุบสภาในวันอังคารแล้วเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยกลุ่มนักศึกษาที่เป็นผู้นำการลุกฮือขับไล่ฮาซีนาต้องการให้ มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและผู้ริเริ่มบุกเบิกโครงการ microfinance ให้มาเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว โดยตัวยูนุสที่เวลานี้อยู่ที่กรุงปารีส กล่าวว่า การลาออกของฮาซีนานั้นเป็น “วันประกาศอิสรภาพครั้งที่ 2” ของประเทศ

ยูนุสยังให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดียในวันอังคารด้วยว่า บังกลาเทศ “ได้กำจัดรัฐบาลที่มีความเป็นเผด็จการอย่างมากไปได้แล้ว” และว่า “เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ได้เสถียรภาพก็คือ การนำประชาธิปไตยที่ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงในบังกลาเทศ กลับคืนมา”

แฟ้มภาพ - ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านบังกลาเทศเรยกร้องให้อดีตนายกฯ คาเลดา เซีย ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับการรักษาตัว เมื่อ 30 พ.ย. 2564
แฟ้มภาพ - ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านบังกลาเทศเรยกร้องให้อดีตนายกฯ คาเลดา เซีย ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับการรักษาตัว เมื่อ 30 พ.ย. 2564

ขณะเดียวกัน โฆษกพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh National Party - BNP) ที่เป็นฝ่ายค้าน ยืนยันในวันอังคารว่า คาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 78 ปี ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาทุจริตคอร์รัปชันและต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 17 ปีเมื่อปี 2018 “เป็นอิสระแล้วในตอนนี้” แต่ก็มีปัญหาสุขภาพย่ำแย่ และต้องนั่งรถเข็นเพราะอาการป่วยจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ทั้งนี้ เซียและฮาซีนาเป็นนักการเมืองหญิงสองคนของบังกลาเทศที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างหนักมาตลอด ทั้งยังเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางการเมืองของประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

  • ที่มา: เอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG