หลังจากโลดแล่นในภาพยนตร์ Live-Action สุดคลาสสิคจากค่ายดิสนีย์อย่าง อลาดิน (2019) จนกวาดรายได้ใส่พรมวิเศษเป็นกอบเป็นกำ
วันนี้ วิล สมิธ กลับมาเรียกรายได้ช่วงท้ายปีอีกรอบกับหนังแอคชั่นไซ-ไฟโปรเจคอมตะ Gemini Man ผลงานกำกับของ อั่ง ลี่ ผนึกกำลังกับ เจอร์รี บัคไฮม์เมอร์ รับประกันความระเบิดภูเขาเผากระท่อมอย่างแน่นอน
Gemini Man (2019) เล่าถึง เฮนรี่ นักฆ่าระดับพระกาฬ ที่อยากจะวางมือจากวงการ เขาล่วงรู้ถึงแผนการอันชั่วร้ายขององค์กรลับที่พัฒนามนุษย์โคลน ก่อนจะพบว่าเขาได้กลายเป็นเป้าสังหารใหม่ของ จูเนียร์ มนุษย์โคลนที่ถูกฝึกฝนให้เป็นนักฆ่า ซึ่งเป็นร่างโคลนของเฮนรี่เสียเอง แล้วเขาจะรอดพ้นเงื้อมมือของตัวเองในร่างใหม่ไปได้หรือไม่
สำหรับการแสดงของวิล สมิธนั้น คงไม่มีใครกังขาถึงฝีมือและลีลาของเขาเป็นแน่ เพียงแต่พล็อตเรื่องอันแสนจะเชยไม่ทันเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปไกลโพ้น จนเหมือนกับบทละครที่ดองไว้หลายทศวรรษหรืออาจเป็นศตวรรษ ซึ่งหากบทนี้ตกไปอยู่ในมือของอาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์ ในยุคทองของเขา หรือจะเป็นวิล สมิธ ใน 20-30 ปีก่อนนั้น ก็อาจสร้างความฮือฮาชนิดบ็อกซ์ออฟฟิสลุกเป็นไฟได้เลยทีเดียว ง่ายๆคือบทที่ใช่ในวันที่ผิดนั่นเอง
ส่วนเรื่องการใช้เทคนิค Motion Capture มาผสมผสานกับการแสดงดราม่าเค้นอารมณ์ 2 บทของวิล สมิธ ในร่างเฮนรี่ นักฆ่าวัยใกล้เกษียณ กับ จูเนียร์ วัยรุ่นผู้ไม่ประสีประสา ดูหลอกตาเสียจนอยากให้เอาเจเดน สมิธ ลูกชายของวิล สมิธ มาเล่นแทนจะอินกว่า แต่ยอมรับว่าการแสดงของวิล สมิธ ใน 2 บทบาทนั้นทำได้ดี เพราะในร่างเฮนรี่ เขาจะดูเหมือนพ่อที่คอยสอนลูกไม่ให้เดินหลงทางหรือทำผิดพลาดเหมือนเขา ส่วนจูเนียร์ ก็เหมือนวัยรุ่นที่กำลังเกิดความสงสัยในตัวเอง แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้กลับถูกกลบมิดด้วยซีจีที่ไม่เนียนอย่างรุนแรง
ด้านนักแสดงร่วม อย่าง แมรี วินสเตด, ไคลฟ์ โอเวน ที่หันไปเอาดีในการเป็นตัวโกงแล้วรุ่ง และเบเนดิกต์ หว่อง ก็กลมกล่อมกล้อมแกล้มทำให้สนุกชวนติดตามได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเดือดร้อนวิล สมิธ รับบทหนักคนเดียวในเรื่องเกินไป
ไปที่ฉากถ่ายทำซึ่งขอชื่นชมความสวยงามน่าชมของเมืองต่างๆ ที่ไปเยือน ทั้งบรรยากาศล่องเรือในรัฐจอร์เจีย ฉากต่อสู้ระห่ำในโคลอมเบีย และไปต่อที่บูดาเปสต์ ในฮังการี ก็แสนจะละเมียดละไมและดูเพลิน
ส่วนสิ่งที่ได้ในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นความคิดเรื่องการเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด อย่างการตัดต่อพันธุกรรมหรือการโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิต เพื่อสร้างเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของมนุษย์ และพยายามตัดความ “เจ็บปวด” ออกจากวงจร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ออกไป และการท้าทายไอเดียด้านจริยธรรมของการใช้สิ่งทดแทนมนุษย์เพื่อการสงครามและความรุนแรง
โดยสรุปแล้ว Gemini Man (2019) ไม่ได้ส่องประกายในฐานะหนังไซ-ไฟที่น่าติดตามตลอดเรื่อง แต่เหมือนกับหนังที่รอดูระหว่างเดินทางบนเครื่องบินก็พอไหว
(บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)