บริษัทสตาร์ท-อัพ สัญชาติเยอรมัน จับมือค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในประเทศ ผลิตรถสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์รุ่นใหม่ หวังสานต่อภารกิจยานอะพอลโล่-17 เมื่อ 45 ปีที่แล้ว
ภาพยนตร์ Sci-fi มักซ่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคตเอาไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ให้ทีมนักวิทยาศาสตร์พัฒนากันต่อเสมอ เช่นเดียวกับรถสำรวจไฮบริดคันนี้ นอกจากจะปรากฏโฉมทั้งในจอเงินและในรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง "เอเลี่ยน : โคเวแนนท์" ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษแล้ว ยังเตรียมเข้าไปทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ในห้วงอวกาศช่วงปีหน้าอีกด้วย
นี่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากบริษัทสตาร์ท-อัพ สัญชาติเยอรมัน “พาร์ท ไทม์ ไซแอนทิส” (Part Time Scientists) ผนึกกำลังกับเพื่อนร่วมชาติที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์อย่างออดี้ ออกแบบรถสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ที่เรียกว่า “ออดี้ ลูน่า ควอร์ตโตร” ทำจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบาเพียง 35 กิโลกรัม พร้อมขุมพลังจากเครื่องยนต์ไฮบริดบวกกับแผงโซลาร์เซลล์ 100 วัตต์
โรเบิร์ต โบห์มี ผู้ออกแบบรถสำรวจนี้ บอกว่า นอกจากการขับเคลื่อนอิสระของล้อทั้ง 4 แล้ว กล้องของรถสำรวจทั้ง 3 ตัว จะทำหน้าที่บันทึกภาพ 3 มิติบนพื้นผิวดวงจันทร์ และใช้วิเคราะห์ข้อมูลจากรถสำรวจของอะพอลโล่-17 ภารกิจสุดท้ายบนดวงจันทร์ขององค์การนาซ่า เมื่อ 11 ธันวาคม ปี 1972 อีกทอดหนึ่งด้วย
โบห์มี มั่นใจว่ารถสำรวจรุ่นนี้รับมือสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้ พร้อมสำหรับการสานต่อภารกิจเมื่อ 45 ปีก่อน ประจำการถาวรเพื่อบันทึกภาพพื้นผิวดวงจันทร์ ด้วยความคมชัดสูง (HD) ส่งกลับมายังโลก และออกสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ให้ไกลออกไปจากภารกิจเดิมให้ได้
รถสำรวจของ Part Time Scientists เป็น 1 ใน 16 บริษัทเอกชนและเหล่าสตาร์ท-อัพ หลากหลายชาติ ที่ขับเคี่ยวกันในโปรเจค “กูเกิ้ล ลูนาร์ เอ็กซ์ ไพรซ์” เพื่อชิงเงินรางวัล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และให้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ส่งยานสำรวจไร้มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์
กติกาคือต้องลงจอดบนดวงจันทร์ได้ เคลื่อนที่บนดวงจันทร์ในระยะ 500 เมตร และเก็บภาพพร้อมวิดีโอความคมชัดสูงส่งกลับมายังโลกได้
(ผู้สื่อข่าว Deborah Block รายงาน / และคุณนีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียง)